วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ผนึกกำลังผู้ประกอบการดนตรี-บันเทิง ชงรัฐเร่งพัฒนาคน - ตั้งหน่วยงานเฉพาะหนุนไทยสู่ HUB เอเชีย

ข่าวทั่วไป Monday March 2, 2009 16:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 มี.ค.--คูดี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ จุดประกายอุตสาหกรรมบันเทิง-ดนตรีไทย มุ่งพัฒนากลยุทธ์ดันไทยสู่ศูนย์กลางของภูมิภาค ชี้อุตสาหกรรมดนตรีรวมยอดขายเทป ซีดี แสดงคอนเสริต์ฯลฯ มูลค่ารวมกว่าแสนล้าน แต่งบอุดหนุนมีเพียง 2,000 ล้าน ระบุคนไทยมีศักยภาพทางด้านดนตรีไม่แพ้ชาติใดในโลกแต่ขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ ต่างจากเกาหลี ที่รัฐบาลแทคทีมใช้อุตสาหกรรมบันเทิง-ดนตรีเป็นหัวหอกส่งออกทางวัฒนธรรม สร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาล ด้านผู้ประกอบการค่ายเพลง ค่ายหนัง ผู้แสดงคอนเสริต์ ฯลฯ จี้รัฐต้องให้การสนับสนุนอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การพัฒนาคนจนถึงปัญหาด้านลิขสิทธิ์ ชี้หากทำได้จะเป็นตัวช่วยฟื้นเศรษฐกิจชั้นดี รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ผู้อำนวยการวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในงานสัมมนา “การจัดทำยุทธศาสตร์และการพัฒนาดนตรีเพื่อความเป็นเลิศ” ว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมดนตรีและบันเทิงในเมืองไทยมีมูลค่ามหาศาลอาจจะถึงหลักแสนล้าน หากรวมทุกธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเช่น ธุรกิจเพลง ธุรกิจหนัง ยอดขายเทป ซีดี การจัดแสดงคอนเสิร์ต การจัดแสดงโชว์ การจัดแสงสีเสียงบนเวที ธุรกิจเครื่องเสียง - เครื่องดนตรี โรงเรียนสอนดนตรี ฯลฯ ในขณะที่การสนับสนุนงบประมาณของภาครัฐในการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพมาป้อนตลาดในส่วนนี้มีเพียงประมาณปีละ 2,000 ล้านบาท ผลก็คือ ทั้งสถาบันการศึกษา ธุรกิจเอกชนต่างต้องดิ้นรนด้วยตนเองอย่างยถากรรมในการพัฒนางานเพื่อให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับทั้งตลาดในและต่างประเทศ ในส่วนของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งรับผิดชอบพัฒนาบุคลากรป้อนให้ภาคธุรกิจอยากจะนำเสนอให้ภาครัฐและภาคธุรกิจได้รับทราบว่า ประเทศไทยสามารถผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านดนตรีในระดับนานาชาติ บางคนได้รับการยอมรับในระดับโลก จึงอยากให้ภาครัฐหันมาให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมดนตรี-บันเทิง เหมือนประเทศเกาหลี ที่ใช้ ภาพยนตร์กับ ดนตรีเป็นหัวหอกในการส่งออกทางวัฒนธรรม ส่งผลให้ประเทศเกาหลีเป็นที่รู้จัก ซึ่งหมายถึงรายได้จากการท่องเที่ยวที่ตามมาจำนวนมหาศาล ในส่วนของภาคธุรกิจที่นำเข้าศิลปิน หรือวงแบ็คอัพ หรือบุคคลากรทางด้านดนตรีจากต่างประเทศ ก็ควรหันมามองคนไทยที่มีความสามารถและสนับสนุนให้บุคคลเหล่านั้นมีโอกาสในการแสดงผลงาน และยังช่วยประหยัดงบประมาณการนำเข้าบุคคลกรที่ไม่จำเป็นอีกด้วย ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน การที่จะหนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ของอุตสาหกรรมดนตรีไทยในแถบเอเซียคงไม่ใช่เรื่องเกินความสามารถ ด้านนายสุรชัย เสนศรี กรรมการผู้จัดการบริษัท GMM อินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด ในเครือบริษัท GMM แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจค่ายเพลงในตลาดเอเชียว่า หากมีการจัดอันดับชั้น โดยวัดจากคุณภาพ มาตรฐาน จำนวนผู้ฟัง ตลอดจนยอดขายเทป ซีดีจะพบว่า ญี่ปุ่นจะจัดอยู่ในเกรด A โดยมีมูลตลาดอยู่ที่ประมาณ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยหากจัดอันดับท็อปเท็นยอดขายเทปซีดีของโลก จะมีญี่ปุ่นเพียงประเทศเดียวในเอเชียที่ติดอันดับ ส่วนเกาหลีจัดอยู่ในเกรด B ในขณะที่ไทย และไต้หวันพยายามแย่งชิงกันเป็นหัวหอกในกลุ่มเกรด C ซึ่งมีมูลค่าตลาดประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ 3,500 ล้านบาท ส่วนกลุ่ม D ได้แก่ กลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว เวียดนาม เขมร ซึ่งกลุ่มนี้ยึดไทยเป็นแม่แบบในการพัฒนางานด้านดนตรี “หากจะมีการพัฒนาอุตสาหกรรมดนตรีไทยให้ก้าวสู่ระดับโลก ตนเห็นว่าจะต้องมีการพัฒนาควบคู่กันไป 3 ทิศทางทั้งในฝ่ายของผู้ประกอบการที่จะต้องมีการพัฒนาศิลปินให้มีความเป็นสากล ขายได้ในตลาดโลก เช่น หากเราจะไปบุกตลาดญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่มาก ต้องหาศิลปินที่นอกจากจะมีความสามารถด้านการร้องเพลงแล้วยังต้องสามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้ เพราะหากนำศิลปินที่ดังแล้วมาหัดพูดภาษาญี่ปุ่น เป็นเรื่องที่ทำได้ยากในทางธุรกิจเพราะศิลปินที่มีชื่อเสียงก็มักจะมีคิวแน่นเอี๊ยดจนไม่สามารถปลีกเวลามาเรียนภาษาได้” ในส่วนของภาครัฐนอกจากการให้สนับสนุนด้านงบประมาณกับสถาบันการศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรมืออาชีพแล้ว รัฐยังต้องกำหนดนโยบายที่แน่ชัดว่าจะให้กระทรวงหรือหน่วยงานไหนเป็นแกนหลักในการส่งเสริมธุรกิจนี้ออกสู่ตลาดโลก นอกจากนี้ยังต้องเอาจริงเอาจังกับปัญหาภาษี ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ทำให้ผู้ผลิตผลงานดนตรีถอดใจเลิกผลิตผลงานกันเป็นจำนวนมาก ชี้เงินตกหล่นต่างประเทศมหาศาล นายสุรชัย กล่าวอีกว่า หากรัฐเข้ามาจัดนโยบายส่งเสริมการส่งออกธุรกิจบันเทิง-ดนตรีอย่างจริงจัง จะสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาล คิดแค่คนไทยที่ไปอยู่ต่างประเทศ 3 ล้านคน 1 คนซื้อซีดี 1 แผ่น ๆ ละ 100 บาท จะช่วยนำเงินกลับประเทศกว่า 300 ล้าน นี่ยังไม่รวมคนแถบเอเชียที่นิยมฟังเพลงไทยอย่าง พม่า เวียดนาม ลาว ฯลฯ อีกจำนวนมากหากส่งเสริมให้ธุรกิจค่ายเพลง หนัง สามารถออกไปโรดโชว์ผลงานได้อย่างถูกต้องโดยรัฐอำนวยความสะดวกด้านการให้ข้อมูลเมืองที่จะไป การขอวีซ่า การติดต่อเอเยนต์หรือค่ายเพลงตัวแทนในประเทศนั้น ๆ ก็จะเป็นการสร้างรายได้เข้าประเทศอีกทางหนึ่ง หนุนตั้งหน่วยงานกลางดูแลส่งออกอุตสาหกรรมดนตรี-บันเทิงครบวงจร นายวินิจ เลิศรัตนชัย กรรมการผู้จัดการ อาร์ เอส เฟรชแอร์ เฟสติวัล จำกัด ผู้จัดแสดงโชว์งานด้านดนตรี คอนเสริต์กล่าวว่า ปัจจุบันคุณภาพบุคลากรทางด้านดนตรีของไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับหนึ่ง แต่ยังขาดผู้เชี่ยวชาญในบางสาขา ซึ่งหากภาครัฐให้การสนับสนุนเรื่องนี้อย่างเป็นระบบโดยมีหน่วยงานกลางขึ้นมารับฟังปัญหาร่วมกับภาคเอกชนก็จะทำให้อุตสาหกรรมนี้มีอนาคต เนื่องจากธุรกิจดนตรี —บันเทิง ค่อนข้างเป็นธุรกิจเฉพาะ ภาครัฐต้องมีความเข้าใจในกระบวนการผลิตงาน การบริหารจัดการหลังการผลิตที่ต้องมีทั้งการจัดโชว์ การแสดงคอนเสิร์ต ตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอีกมากมาย ฯลฯ ซึ่งถ้าเรามีหน่วยงานกลางขึ้นมารับผิดชอบ ก็จะเป็นการเพิ่มศักยภาพธุรกิจไทยทั้งในด้านบุคลากรและสร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ ด้านนายนนทรีย์ นิมิบุตร กรรมการผู้จัดการบริษัทบริษัท ภาพยนตร์หรรษา จำกัด ผู้กำกับหนังที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงการผู้กำกับหนังต่างชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันผู้ผลิตหนังของไทยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่เป็นผู้ลงทุนและผลิตงานหนังเอง เช่น บริษัทสหมงคลฟิลม์ มีอยู่ในตลาดประมาณ 5 ราย และอีกกลุ่มคือกลุ่มสตูดิโอ คือผู้กำกับที่เขียนบทหนังขึ้นมาเสนอนักลงทุน หากมีนักลงทุนให้ความสนใจก็จะนำเงินนั้นมาผลิตหนังซึ่งในกลุ่มนี้มีประมาณ 10 รายในตลาด ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้กำกับหนังที่มีผลงานในตลาดประมาณ 30 ราย จากสมาชิกที่อยู่ในสมาคมผู้กำกับไทย 100 กว่าราย แต่ผู้กำกับที่มีบทบาท มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในตลาดเอเชีย ตลาดอเมริกาจนสามารถส่งหนังออกไปจำหน่ายได้มีประมาณ 5-6 รายเท่านั้น ซึ่งถือว่ายังน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ผลิตหนังรายอื่นในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลี สาเหตุที่การส่งออกหนังของไทยยังมีน้อยเนื่องจาก การรับรู้ข่าวสาร หรือการสนับสนุนหาช่องทางที่จะส่งออกภาพยนตร์ไทยยังมีค่อนข้างจำกัด ผู้ผลิต ผู้กำกับที่สามารถส่งออกผลงานส่วนใหญ่ต้องค้นหาข้อมูล หรือนำเสนอผลงานหนังด้วยตนเอง ในขณะที่ต่างประเทศ เช่น เกาหลีจะมีการตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมาเป็นเซ็นเตอร์ช่วยสนับสนุนการส่งออกหนังและละครของตนอย่างครบวงจร ต่างกับประเทศไทย หากมีนักธุรกิจต่างชาติสนใจจะมาซื้อหนัง หรือเพลงของไทยก็ไม่ทราบว่าจะไปติดต่อได้ที่ไหน ถ้ารัฐมีการตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมาก็จะเป็นการช่วยเหลือศิลปิน หรือผู้ผลิตรายย่อยให้สามารถแสดงผลงานและเพิ่มช่องทางการตลาดใหม่ ๆได้ ต้องปลูกฝังการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาล นาย โยซูเกะ ฮาริมะ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด ซึ่งนำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดนตรีของยามาฮ่า เปิดเผยถึงภาพรวมอุตสาหกรรมธุรกิจเครื่องดนตรีในเมืองไทยปัจจุบันว่า ขนาดอุตสาหกรรมของไทยยังมีขนาดเล็กมีมูลค่าตลาดประมาณ 2, 000 ล้านบาท / ปี เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นอยู่ที่ 39,000 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น สัดส่วน 1:20 ทั้งนี้เนื่องจาก เมืองไทยยังไม่มีการสนับสนุนเรื่องนี้อย่างเพียงพอ ไม่มีคนที่เข้าใจถึงประโยชน์ของดนตรี โดยเฉพาะดนตรีคลาสสิคไม่มีฝ่ายใดสนับสนุนเลยทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ในขณะที่ญี่ปุ่น ภาครัฐและเอกชนสนับสนุนดนตรีคลาสสิค ซึ่งอาจจะมาจากนโยบายของระบบการศึกษาของญี่ปุ่นที่ปลูกฝังเรื่องนี้มาตั้งแต่ระดับอนุบาล ผลก็คือญี่ปุ่นมีบุคลลากรด้านดนตรีเป็นจำนวนมาก เช่น นักดนตรีออเครสตรามืออาชีพ ไทยมี 2 คน ญี่ปุ่น 31 คน มหาวิทยาลัยทางด้านดนตรี ไทยมี 3 แห่ง ญี่ปุ่น 39 แห่ง คนที่เล่นเครื่องดนตรีคลาสสิคเป็นประจำ เช่น เปียโน กีตาร์คลาสสิค ไทยมี 30,000 ญี่ปุ่นมี 6 ล้าน คน จากจำนวนที่แตกต่างกันมากไม่ใช่ว่าเพราะญี่ปุ่นมีเงิน แต่เป็นเพราะ การปลูกฝังเรื่องการศึกษาที่ทำให้คนญี่ปุ่นรักเพลงคลาสสิค สิ่งที่อยากให้รัฐบาลไทยสนับสนุนก็คือ นโยบายทางด้านการศึกษา โดยกำหนดให้วิชาดนตรีเป็นการเรียนการสอนในภาคบังคับของระดับประถมศึกษาขึ้นไปของทุกโรงเรียน ซึ่งจะช่วยปลูกฝังให้เด็กมีพัฒนาการ จินตนาการที่ดี นอกจากนี้ควรสนับสนุนให้มีสมาคมดนตรีในประเทศไทย เพราะ ปัจจุบันมีสมาคมดนตรีนานาชาติมากมายต้องการติดต่อกับไทย แต่หน่วยงานเหล่านั้นไม่รู้ว่าจะติดต่อสมาคมใดในเมืองไทย ในขณะที่แต่ละประเทศเขาจะมีสมาคม เช่น โรงเรียนที่มีวงดนตรี เช่น วงโยธาวาทิต ก็จะมีสมาคมดนตรีโยธาวาทิต สมาคมนี้จะมีหน้าที่จัดกิจกรรมทางดนตรีเช่น สัมมนา อบรม ประกวด เป็นต้น นอกจากนี้ สมาคมยังทำหน้าที่ติดต่อกับสมาคมในระดับนานาชาติอีกด้วย ซึ่งรัฐบาลก็สามารถสนับสนุนงบประมาณให้กับสมาคมให้จัดกิจกรรมและดำเนินการดังกล่าวได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นิมมิดา วรนิธิศ (แหม่ม) 081-860-4217 ศาตนันท์ สว่างเนตร (โอ๋) 081-924-2170 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท คูดี จำกัด โทร. 02-960-0262-4

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ