กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--ม.มหิดล
ตามที่กรมวิชาเกษตรได้ออกประกาศให้พืชสมุนไพร 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 1 นั้น ล่าสุด กรมวิชาการการเกษตรได้ร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ [2] โดยให้ผู้ใดก็ตามที่ผลิต นำเข้า หรือส่งออกเพื่อขายสมุนไพรดังกล่าวต้องแจ้งล่วงหน้าต่อเจ้าพนักงานตามแบบฟอร์มที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้กำหนด การออกกฎระเบียบดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การควบคุมเกษตรกร ชุมชน หรือผู้ประกอบการรายย่อยโดยแท้ เนื่องจากประกาศควบคุมเฉพาะ “ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืชซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี” และ “เฉพาะที่นำไปใช้ในการป้องกันกำจัด ทำลาย ควบคุมแมลง วัชพืช โรคพืช ศัตรูพืช หรือควบคุมการเจริญเติบโตของพืช” ทั้งนี้หากไม่ดำเนินการจะมีความผิดตามกฎหมาย นั้น
รองศาสตราจารย์ พร้อมจิต ศรลัมพ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในโอกาสแถลงข่าววันพระราชทานนาม “มหิดล” ว่า “ จากรายชื่อพืชในบัญชีดังกล่าว ทั้ง 13 ชนิด สามารถจำแนกได้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่1 เป็นอาหารและยารับประทาน ได้แก่ ขมิ้นชัน ขิง ข่า คึ่นไฉ่ พริก ชุมเห็ดเทศ และสะเดา, กลุ่มที่ 2 เป็นพืชสมุนไพรที่ใช้เป็นภายนอก ไม่รับประทานได้แก่ ดาวเรือง ตะไคร้หอม หนอนตายหยาก กากเมล็ดชา และสาบเสือ และกลุ่มที่ 3 เป็นพืชที่ความเป็นพิษสูง ได้แก่ ดองดึงหัวขวาน:
กลุ่มที่1 เป็นอาหารและยารับประทาน: ขมิ้นชัน ขิง และข่า เป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์หลายด้าน ใช้เป็นยาทั้งรับประทานและทาภายนอก รวมทั้งเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางด้วย สมุนไพรทั้งสามชนิดเป็นพืชในวงศ์เดียวกัน คือ ZINGIBERACEAE และมีสรรพคุณต่อระบบทางเดินอาหารคล้ายคลึงกัน ทั้งนี้งานวิจัยระบุว่าสมุนไพรขิงและขมิ้นชันชนิดมีฤทธิ์ขับลม สามารถรักษาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ และโรคแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก นอกจากนี้สมุนไพรทั้งสามชนิดมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ และต้านเชื้อแบคทีเรีย ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ขับน้ำดี ปกป้องตับและไตจากสารพิษ และช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งในสัตว์ทดลอง ส่วนขิงยังช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียนได้ดีเหมาะกับคนที่มีอาการเมารถเมาเรือ ขมิ้นชันช่วยต้านการเกิดโรคความจำเสื่อม (Alzheimer disease) และต้านความซึมเศร้าในสัตว์ทดลอง สำหรับข่าสามารถฆ่าเชื้อโรคและเชื้อราที่ผิวหนัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อกลากและเกลื้อน
ความเป็นพิษ สมุนไพรทั้งสามชนิดในขนาดที่รับประทานได้หรือขนาดที่ปรุงยามีความปลอดภัย ขมิ้นชันไม่ทำให้เกิดพิษในสัตว์ทดลอง และยังไม่มีรายงานความเป็นพิษในคน พบว่าคนบริโภคสารสำคัญ curcumin ในปริมาณ 10 กรัมต่อวัน หรือเทียบเท่าเหง้าขมิ้นชันแห้งประมาณ 2 ขีด ไม่ก่อเกิดพิษ และการรับประทานน้ำมันหอมระเหยขมิ้นชันในปริมาณ 0.6 มิลลิลิตร วันละ 3 เวลา เป็นเวลา 1 และ 3 เดือน พบว่ามีความปลอดภัย พริก มีสารแคปไซซิน (Capsaicin) ซึ่งจากข้อมูลและการทดสอบความเป็นพิษของพริก สรุปได้ว่า ถ้าเป็นคนต้องรับประทานพริกขี้หนูสดครั้งเดียวถึง 2 ขีด จึงจะเกิดพิษ ส่วนชุมเห็ดเทศเป็นยาระบายชนิดเพิ่มการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ ส่วนต่างๆของชุมเห็ดเทศมีสารกลุ่มแอนทราควิโนน เช่น rhein, emodin, aloe-emodinและ chrysophanol จากการทดลองยังไม่มีรายงานความเป็นพิษในคน
คึ่นไช่ จากการวิจัยพบว่า ต้นคึ่นไช่และเมล็ดคึ่นไช่ มีฤทธิ์ลดปริมาณเชื้ออสุจิในสัตว์ทดลองตัวผู้ และลดอัตราการตั้งท้องของสัตว์ตัวเมียได้ น้ำต้มคึ่นไช่สามารถลดความดันโลหิตได้ภายใน 1 ชั่วโมง และฤทธิ์อยู่ได้นานกว่า 5 ชั่วโมง น้ำมันหอมระเหยในลำต้นและใบ มีฤทธิ์ช่วยขับลมในกระเพาะและลำไส้ ทำให้หายจุกเสียดแน่น และพบว่าคึ่นไช่ยังมีฤทธิ์ช่วยขับปัสสาวะได้เล็กน้อยอีกด้วย สะเดา ในส่วนที่บริโภคกันอยู่คือยอดและช่อดอกอ่อนไม่เคยมีรายงานความเป็นพิษ ส่วนใบ เปลือกต้น และเมล็ด รวมทั้งน้ำมันในเมล็ดสะเดา มีสารที่มีฤทธิ์ในการป้องกันกำจัดแมลง ยับยั้งการเจริญเติบโตของตัวหนอนและปริมาณการฝักของไข่หนอนแมลงศัตรูพืช แต่หากบริโภคน้ำมันจากเม็ดสะเดาอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
กลุ่มที่ 2 เป็นพืชสมุนไพรที่ใช้เป็นภายนอก ไม่รับประทาน: ตะไคร้หอม มีฤทธิ์ป้องกันและกำจัดแมลงในพืชผัก ข้าว และไม้ผลบางชนิด เช่นส้มเขียวหวาน รวมทั้งใช้ทาป้องกันยุงได้ด้วย นอกจากสูตรสะเดา ตะไคร้หอมและข่าแล้ว ยังสามารถใช้ใบแห้งรองพื้นยุ้งฉาง เพื่อป้องกันมอดทำลายข้าวเปลือก หรือวางรองในรังไก่ป้องกันและกำจัดไรไก่ได้เป็นอย่างดีไม่นำมารับประทานเพราะมีกลิ่นที่ไม่ชวนให้รับประทาน จึงมีรายงานความเป็นพิษของตะไคร้หอมในการบริโภคค่อนข้างน้อย และยังไม่มีรายงานความเป็นพิษในคน สาบเสือ ไม่ใช้รับประทาน มีรายงานความเป็นพิษของสาบเสือค่อนข้างน้อย และยังไม่มีรายงานความเป็นพิษในคน ดาวเรือง กลีบดอกดาวเรือง มีสารกลุ่มไตรเทอปีน ฟลาโวนอยด์ และซาโปนิน ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านการเจริญของเชื้อแบคทีเรียและไวรัส จึงนำสารสกัดดอกดาวเรืองมาเตรียมผลิตภัณฑ์ใช้ภายนอกและเครื่องสำอาง สำหรับรักษาการอักเสบของผิวหนัง และแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ยังไม่มีรายงานความเป็นพิษในคน แต่พบว่ามีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิงด้วยโดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้ดอกดาวเรืองในอุตสาหกรรมผลิตสัตว์ เช่น ผสมในอาหารไก่ช่วยเพิ่มสีของไข่แดงในไข่ไก่ ซึ่งยังไม่มีรายงานความเป็นพิษ รวมทั้งพิษตกค้างในไข่แดงด้วย หนอนตายหยาก ไม่ใช้เป็นอาหาร ภูมิปัญญาไทยใช้รากวางบนปากไหน้ำปลาหรือไหปลาร้า เพื่อกำจัดไข่หนอนที่ติดมากับแมลงวันไม่ให้ลงไปปนเปื้อนในการหมักน้ำปลา จากข้อมูลและการทดสอบความเป็นพิษของรากหนอนตายหยากยังไม่มีรายงานความเป็นพิษในคน กากเมล็ดชา ( tea seed cake) ในกากเมล็ดชามีสารซาโปนิน (saponin) อยู่ประมาณ 10-13% ซึ่งมีความเป็นพิษรุนแรงเฉพาะกับสัตว์เลือดเย็นหรือสัตว์ชั้นต่ำ เช่น ปลา กุ้ง และหอย เท่านั้น ข้อมูลและการทดสอบความเป็นพิษของกากเมล็ดชา สรุปได้ว่า ขนาดของสาร Ryokucha saponin ในเมล็ดชาที่จะทำให้เกิดพิษในสัตว์ทดลองคือ 500 มก./กก. แต่ยังไม่มีรายงานความเป็นพิษในคน เพราะไม่มีใช้กากเมล็ดชาเป็นอาหารหรือยา
กลุ่มที่ 3 เป็นพืชที่ความเป็นพิษสูง: หัวดองดึงหัวขวาน เป็นสมุนไพรชนิดเดียวในรายการนี้ที่มีความเป็นพิษสูง หากรับประทานเข้าไปสามารถทำให้เสียชีวิตได้ สารที่ทำให้เกิดพิษ คือ colchicine ขนาดที่ทำให้เกิดพิษจะต่ำมาก มีรายงานการรับประทานสารดังกล่าวในขนาด 7 -11 มก. แล้วทำให้เสียชีวิต ผู้ป่วยจะมีอาการไตวายเฉียบพลัน ลำไส้อักเสบ ระบบไหลเวียนของเลือดผิดปกติ คลื่นหัวใจผิดปกติจนวัดไม่ได้ และเสียชีวิตในที่สุด มีรายงานการเสียชีวิตของคนที่บริโภคหัวดองดึงด้วยความเข้าใจผิดหลายราย ปัจจุบันนี้วงการปรับปรุงพันธุ์พืชยังคงใช้ colchicine ในการกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์ และทำให้เกิด double chromosome ในพืชได้
รศ. พร้อมจิต กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้ผู้บริโภคใส่ใจกับการหาข้อมูลของสมุนไพรที่จะนำไปใช้ให้ชัดเจน ทั้งประโยชน์และความเป็นพิษ หากสงสัยสามารถสอบถามได้ที่สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล โทรศัพท์ 0-2354-4327, 0-2644-8677-91 ต่อ 5305,5316 โทรสาร 0-2354-4327 หรือ E-mail: headpypi@mahidol.ac.th หรือเข้ามาศึกษาพรรณไม้และข้อมูลได้ที่สวนสมุนไพรสิรีรุกขชาติ ซึ่งมีพื้นที่ 38 ไร่ อยู่ภายในศูนย์ศาลายาของมหาวิทยาลัยมหิดล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-849-6208-10 จิรพร ชีวะธรรม