กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--ก.ไอซีที
นายสือ ล้ออุทัย ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะรองประธานกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้มีการจัดทำ (ร่าง) แผนการดำเนินงานของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2551-2554 ขึ้น เพื่อใช้เป็นกรอบนโยบาย และแผนการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์ของคณะกรรมการฯ ที่จะนำไปสู่แผนปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งแผนงานดังกล่าวเกิดจากการระดมความคิดเห็นของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และคณะอนุกรรมการอีก 6 ชุด ที่ดูแลงานในด้านต่าง ๆ 6 ด้าน และผู้ที่เกี่ยวข้อง
“คณะกรรมการฯ และคณะอนุกรรมการทุกชุด ได้ร่วมกันพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะในการจัดทำแผนการดำเนินงานด้านต่างๆ ให้มีความสอดคล้องกับทิศทางของสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี รวมทั้งพิจารณาถึงแนวทางการพัฒนาของประเทศไทยควบคู่กันไป และนำมาสู่การจัดทำแผนการดำเนินงานที่มีความต่อเนื่องและใช้ปฏิบัติได้จริงในระยะเวลา 3-4 ปี คือ ตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2551-2554” นายสือ กล่าว
สำหรับ (ร่าง) แผนการดำเนินงานของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ นี้ ได้มีการกำหนดทิศทางการพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยในช่วงปีพ.ศ. 2551-2554 ไว้คือ การทำให้ประเทศไทยมีระบบธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อถือได้และพร้อมสำหรับทุกคน หรือ e-Trust and readiness for All โดยมีเป้าหมายในการดำเนินงาน คือ การเพิ่มปริมาณและมูลค่าการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้เพิ่มขึ้น รวมทั้งการออกกฎระเบียบและมาตรฐานที่ครบถ้วนตามกฎหมาย และผลักดันให้เกิดกลไกที่เป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ใน (ร่าง) แผนงานฯ ยังได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานใน 7 ด้าน คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ประกอบการและผู้บริโภค ในการทำหรือให้บริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยผลักดันให้มีกลไกการควบคุมหรือกำกับดูแลที่มีธรรมาภิบาลซึ่งเข้มแข็งและตรวจสอบได้ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาศักยภาพและเร่งให้เกิดกลไก ที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ ภาครัฐ และประชาชน ในด้านความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนากลไกที่ทำให้คนไทยรู้เท่าทันการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ยุทธศาสตร์ ที่ 4 การพัฒนามาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคทางออนไลน์ที่บูรณาการ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดกลไกการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ยุทธศาสตร์ที่ 6 การส่งเสริม และสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาแอพพลิเคชั่น เพื่อรองรับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และยุทธศาสตร์ที่ 7 การบริหารจัดการ
อย่างไรก็ตาม การที่จะผลักดันให้ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์บรรลุผลตามแผนการดำเนินงานได้นั้น จำเป็นต้องมีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ขึ้น เพื่อกำกับดูแล และรองรับภารกิจการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ตามกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกระทรวงไอซีที และคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์จะได้มีการเร่งผลักดันให้มีเร่งผลักดันให้มีการจัดตั้งสำนักงาน โดยจะนำเสนอความสำคัญของการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ว่ามีส่วนช่วยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาสั่งการให้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อไป