กรุงเทพฯ--3 มี.ค.--กรมการค้าต่างประเทศ
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในปี 2551 กรมฯให้บริการออกหนังสือสำคัญฯจำนวนทั้งสิ้น 1,020,697 ฉบับ แบ่งเป็นหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าประมาณ ร้อยละ 92 และเป็นใบอนุญาตและหนังสือรับรองการส่งออกและนำเข้าสินค้าร้อยละ 8 เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณการขอหนังสือสำคัญที่เพิ่มขึ้นทุกปี กรมการค้าต่างประเทศได้พัฒนาการให้บริการออกหนังสือสำคัญการส่งออก-นำเข้าสินค้าโดยใช้ระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Interchange :EDI) ซึ่งลักษณะการให้บริการด้วยระบบ EDI จะเป็นรูปแบบของ Web Application ที่ผู้ใช้บริการสามารถยื่นคำขอหนังสือสำคัญฯผ่านเครือข่าย Internet โดยระบบจะทำการตรวจสอบและตอบกลับให้ทราบสถานะของคำขอฯภายใน 5 นาที ซึ่งผู้ส่งออกสามารถขอรับหนังสือสำคัญฯได้ทั้งที่กรมการค้าต่างประเทศและสำนักงานสาขาที่กรมฯจัดไว้ให้บริการ การให้บริการด้วยระบบ EDI จะใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที ดังนั้น การยื่นขอหนังสือสำคัญด้วยระบบ EDI จะมีความสะดวกรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเมื่อเปรียบเทียบกับยื่นขอหนังสือสำคัญด้วยระบบ Manual จึงทำให้ผู้ประกอบการหันมาใช้บริการด้วยระบบ EDI เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2551 การขอหนังสือสำคัญฯด้วยระบบ EDI มีจำนวน 624,250 ฉบับ(คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 61) ซึ่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับจำนวน 482,530 ฉบับในปี 2550 ในจำนวนหนังสือสำคัญฯที่กรมฯให้บริการด้วยระบบ EDI ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าประมาณร้อยละ 71 และเป็นใบอนุญาตและหนังสือรับรองการส่งออกและนำเข้าสินค้าร้อยละ 29 ปัจจุบันจำนวนผู้ประกอบการที่ขอจดทะเบียนเป็นสมาชิกในการขอหนังสือสำคัญฯด้วยระบบ EDI มีจำนวนทั้งสิ้น 5,050 ราย โดยเป็นหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าจำนวน 4,036 ราย และใบอนุญาตและหนังสือรับรองการส่งออกและนำเข้าสินค้าจำนวน 1,014 ราย นอกจากนี้ กรมการค้าต่างประเทศกำลังพัฒนาการให้บริการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดยจะนำระบบการให้บริการออกหนังสือสำคัญโดยการนำระบบลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์(Digital Signature)มาใช้ในการให้บริการผู้ประกอบการ