กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ร่วมกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) จัดการสัมมนา เรื่อง ตลาดตราสารหนี้ไทยในยุคทุนนิยมแบบพอเพียง ณ โรงแรมแลนด์มาร์ค กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2549
โดยในการสัมมนาดังกล่าว นายพงษ์ภาณุฯ ได้กล่าวถึงนโยบายและแผนการออกพันธบัตรภาครัฐในปีงบประมาณ 2550 ว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 จะมีพันธบัตรรัฐบาล (ไม่รวมรัฐวิสาหกิจ) ที่คาดว่าจะออกในวงเงินประมาณ 244,900 ล้านบาท โดย สบน. ได้กำหนดแนวทางในการออกพันธบัตรของรัฐบาลเป็น 2 ส่วน ดังนี้
- พันธบัตรที่เป็นการ Refinance ได้แก่ การ Refinance พันธบัตรรัฐบาลที่ออกภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 จำนวน 35,000 ล้านบาท การ Refinance พันธบัตรรัฐบาลที่เกิดจากการขาดดุลงบประมาณที่ครบกำหนด 37,000 ล้านบาท และการปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศเป็นเงินบาทอีกจำนวน 6,700 ล้านบาท
- พันธบัตรที่เป็น New Issue ได้แก่ พันธบัตรรัฐบาลเพื่อชดเชยความเสียหายให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จำนวน 20,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลสำหรับนักลงทุนสถาบัน 14,000 ล้านบาท และพันธบัตรออมทรัพย์ 6,000 ล้านบาท และพันธบัตรรัฐบาลเพื่อชดเชยการขาดดุลอีกจำนวน 146,200 ล้านบาท
ทั้งนี้ สบน. จะนำวงเงินดังกล่าวมาออกเป็นพันธบัตรอายุตั้งแต่ 5 — 20 ปี ซึ่งจะช่วยสร้างอัตราผลตอบแทนอ้างอิงให้ตลาดได้ ในส่วนของพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ ตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแผนการก่อหนี้ของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2550 โดยมีวงเงินกู้ทั้งสิ้น ประมาณ 239,037 ล้านบาท ซึ่ง สบน. มีนโยบายที่จะสนับสนุนให้รัฐวิสาหกิจกู้เงินในประเทศ เนื่องจากสภาพคล่องในตลาดมีเพียงพอ อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และอัตราแลกเปลี่ยนมีเสถียรภาพ
นายพงษ์ภาณุฯ ยังได้กล่าวถึงแนวทางในการออกพันธบัตรของภาครัฐในอนาคตว่า จะมีการปรับปรุงแนวทางในการวางแผนการออกพันธบัตร โดยในเบื้องต้น สบน. มีแผนที่จะหารือกับผู้ร่วมตลาด อาทิเช่น สถาบันการเงิน บริษัทประกัน และกองทุนต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับภาวะตลาด
ตราสารหนี้ รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการวางแผนออกพันธบัตร เพื่อช่วยส่งเสริมให้การกำหนดกลยุทธ์ในการออกพันธบัตรมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น นอกจากนี้ สบน. ยังอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางในการเพิ่มอุปทาน และเพิ่มสภาพคล่องให้พันธบัตรรัฐบาล ซึ่งรวมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ในการเพิ่มรุ่นและปริมาณของ พันธบัตรที่จะใช้เป็นอัตราผลตอบแทนอ้างอิงในตลาด และช่วยสร้างเครื่องมือที่จะนำมาใช้ป้องกันความเสี่ยงของผู้ลงทุนในตลาดตราสารหนี้ด้วย