กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--ธนาคารเอชเอสบีซี
***แต่ 6 ใน 10 ผู้จัดการกองทุนยังให้น้ำหนักตลาดพันธบัตร***
ผลสำรวจความคิดเห็นบริษัทจัดการกองทุนชั้นนำทั่วโลกรอบล่าสุดโดยธนาคารเอชเอสบีซี เผยผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่มองตลาดหุ้นจีนสดใสขึ้นในไตรมาสแรกปีนี้ ร้อยละ 67 ของผู้จัดการกองทุนที่ร่วมการสำรวจให้น้ำหนักการลงทุนสูงขึ้น เทียบกับร้อยละ 50 ในการสำรวจเมื่อไตรมาส 4/2008 โดยไม่มีรายใดลดน้ำหนักการลงทุนเลย เทียบกับร้อยละ 38 ในการสำรวจคราวก่อน และร้อยละ 33 ยังคงความเห็นเป็นกลาง เพิ่มจากร้อยละ 13
มิสบอนนี เท ผู้อำนวยการธุรกิจเอชเอสบีซี พรีเมียร์ การบริหารความมั่งคั่งและกลุ่มตลาดขนาดกลาง ฝ่ายบุคคลธนกิจ ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เผยว่า “ผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่มองตลาดหุ้นจีนว่ามีแนวโน้มสดใสมาก โดยคาดว่ารัฐบาลจีนกำลังเร่งออกมาตรการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อภายใน ประเทศ มุมมองดังกล่าวอาจเกี่ยวเนื่องกับแผนกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่คาดว่าจะให้ผลดีต่อเศรษฐกิจจีนด้วยก็ได้”
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมผู้จัดการกองทุนยังให้ความสำคัญกับตลาดพันธบัตรมากกว่าตลาดหุ้นในช่วงไตรมาสแรกนี้ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจทั่วโลกยังมีความไม่แน่นอน ร้อยละ 57 ของผู้ตอบแบบสอบถามให้น้ำหนักกับการลงทุนในตลาดพันธบัตร (เทียบกับร้อยละ 50 ในการสำรวจเมื่อไตรมาส 4/2008) ขณะที่ร้อยละ 43 มีความเห็นเป็นกลาง (เทียบกับร้อยละ 30 ในไตรมาสก่อน) และไม่มีผู้จัดการกองทุนรายใดลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดตราสารนี้เลย (เทียบกับร้อยละ 20 ในไตรมาสก่อน)
ในการสำรวจเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับการลงทุนในตลาดหุ้นเพราะราคาและมูลค่าหุ้นในช่วงดังกล่าวน่าสนใจกับการเข้าลงทุน ทั้งนี้มิสเทให้ข้อสังเกตว่า “ผู้จัดการกองทุนหันมาเน้นให้ความสำคัญกับคุณภาพเป็นหลัก ในภาวะที่ตลาดผันผวนและเศรษฐกิจโลกยังไม่แน่นอน โดยเลือกลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำ เราคาดว่าลักษณะเชิงจิตวิทยานี้จะคงอยู่ต่อไปในระยะสั้นและกลาง”
บริษัทจัดการกองทุนชั้นนำของโลกรวม 12 แห่ง1 ที่ธนาคารเอชเอสบีซีจัดสำรวจความคิดเห็นเป็นรายไตรมาสนี้ ยังวิเคราะห์ปริมาณเงินทุนภายใต้การบริหารจัดการ (Fund under management: FUM) กระแสเงินลงทุนทั่วโลก (Global money flows) และความเห็นของผู้จัดการกองทุนเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดตราสารต่างๆ โดยกระแสเงินลงทุนสุทธิ (Net money flow)2 คำนวณจากความเคลื่อนไหวของปริมาณเงินทุนภายใต้การบริหารจัดการ เปรียบเทียบกับความเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดตราสารประเภทเดียวกัน
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2008 ปริมาณเงินทุนภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทจัดการกองทุน 12 แห่งที่ร่วมในการสำรวจครั้งล่าสุดนี้อยู่ที่ 3.27 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 17 ของประมาณการปริมาณเงินลงทุนที่มีอยู่ทั่วโลก (Total global FUM)3
ผลการสำรวจพบว่าเมื่อสิ้นไตรมาส 4/2008 ปริมาณเงินทุนภายใต้การบริหารจัดการลดลง 295 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงคิดเป็นร้อยละ 8.26 จากไตรมาส 3/2008 โดยกองทุนหุ้นมีปริมาณเงินลดลงสูงสุดถึง 252 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่กองทุนที่ลงทุนในตลาดเงินกลับมียอดเงินสูงขึ้น 83.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และกองทุนพันธบัตรมียอดเงินเพิ่มขึ้น 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
กระแสเงินลงทุนสุทธิ เทียบเป็นร้อยละของปริมาณเงินลงทุนภายใต้การบริหารจัดการของผู้จัดการกองทุน
ที่ร่วมในการสำรวจครั้งนี้
ประเภทตลาด และตราสาร สิ้นไตรมาส 4/2008 สิ้นไตรมาส 3/2008
ตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging markets equities) -9.2% -11.1%
ตลาดหุ้นจีน (Greater China equities) -4.4% -4.6%
ตลาดหุ้นเอเชีย-แปซิฟิก (ไม่รวมญี่ปุ่น)
(Asia-Pacific ex-Japan equities) -1.0% -5.5%
ตลาดพันธบัตรเกิดใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูง
(High-yield/emerging markets bonds) -11.9% -6.3%
ตลาดพันธบัตรยุโรป (รวมสหราชอาณาจักร)
(Europe bonds — including the UK) +8.7% -5.4%
ตลาดพันธบัตรสหรัฐอเมริกา (US bonds) +2.9% +9.4%
มิสบอนนี เท ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “กองทุนหุ้นที่ลงทุนในตลาดหุ้นเกิดใหม่ทั่วโลกยังคงมีปริมาณเงินทุนไหลออกสูงสุด เนื่องจากหลายฝ่ายยังกังวลว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศที่พัฒนาแล้วอาจทำให้ตลาดหุ้นเกิดใหม่หลายแห่งมีความเสี่ยงมากขึ้น ตลาดพันธบัตรเกิดใหม่ก็ได้รับผลกระทบในทำนองเดียวกัน เพราะเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากปัญหาสินเชื่อตึงตัว ตลาดพันธบัตรยุโรปเป็นตลาดที่มีเงินทุนไหลเข้าสูงสุดในไตรมาส 4/2008 ส่วนหนึ่งมาจากการที่ธนาคารกลางของอังกฤษและอีกหลายประเทศในยุโรปได้ผ่อนคลายกฎระเบียบลงในหลายเรื่อง ส่วนตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา มีเงินทุนไหลเข้าพอสมควร อันเนื่องมาจากนโยบายกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลกลางเริ่มประกาศใช้”
ความเห็นของผู้จัดการกองทุนต่อตลาดตราสารประเภทต่างๆ ในไตรมาสที่ 1/2009 มีสาระสำคัญดังนี้
- ตลาดหุ้น: ร้อยละ 33 ของผู้จัดการกองทุนที่ร่วมในการสำรวจครั้งนี้ให้น้ำหนักกับการลงทุนในตลาดหุ้น (เทียบกับร้อยละ 50 ที่มีความเห็นเช่นนี้ในไตรมาสก่อน) และร้อยละ 22 ของผู้จัดการกองทุนเห็นว่าควรลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้น (เทียบกับร้อยละ 30 ในไตรมาสก่อนหน้า)
- ตลาดพันธบัตร: ร้อยละ 57 ของผู้จัดการกองทุนเห็นว่าตลาดพันธบัตรน่าสนใจและควรเพิ่มน้ำหนักการลงทุน (เพิ่มจากร้อยละ 50 ในการสำรวจครั้งก่อน) และไม่มีผู้จัดการกองทุนรายใดเห็นว่าควรลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดตราสารนี้ (เทียบกับไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 20 ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่าควรลดน้ำหนักการลงทุน)
- เงินสด: มีผู้จัดการกองทุนร้อยละ 33 ที่เห็นว่าควรให้น้ำหนักกับการถือครองเงินสด (เพิ่มจากร้อยละ 25 ในการสำรวจคราวก่อน) ร้อยละ 17 เห็นว่าควรลดน้ำหนักการถือครองเงินสด (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13 ในการสำรวจคราวก่อน)
ความเห็นของผู้จัดการกองทุนต่อการลงทุนในตลาดภูมิภาคต่างๆ ในไตรมาสที่ 1/2009 มีสาระสำคัญดังนี้
- ตลาดหุ้นจีน (Greater China equities) และตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging markets equities): แม้ว่าผู้จัดการกองทุนจะเห็นว่าตลาดหุ้นจีนมีแนวโน้มสดใสขึ้นมาก แต่หลายคนยังคง “เมิน” ตลาดหุ้นเกิดใหม่ มีเพียงร้อยละ 38 เท่านั้นที่เห็นว่าควรเพิ่มน้ำหนักการลงทุน (ลดลงจากร้อยละ 56 จากการสำรวจคราวก่อน) ร้อยละ 38 เห็นว่าควรลดน้ำหนัก (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 33 ในการสำรวจคราวก่อน)
- ตลาดหุ้นเอเชีย-แปซิฟิก (ไม่รวมตลาดญี่ปุ่น): ร้อยละ 44 ของผู้จัดการกองทุนเห็นว่าควรเพิ่มน้ำหนัก การลงทุนในไตรมาสนี้ (ลดลงจากร้อยละ 56 ในการสำรวจคราวก่อน) ร้อยละ 33 มีความเห็นเป็นกลาง (เทียบกับร้อยละ 22 ที่มีความเห็นเช่นนี้ในไตรมาสก่อน) ขณะที่ผู้จัดการกองทุนที่เห็นควรลดน้ำหนักการลงทุนมีจำนวนเท่ากับการสำรวจในไตรมาสก่อน คือร้อยละ 22
- ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา: ผู้จัดการกองทุนที่ร่วมการสำรวจคราวนี้มีความเห็นเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาแยกออกเป็น 3 กลุ่มโดยกลุ่มที่เห็นว่าควรเพิ่มน้ำหนักการลงทุน คงน้ำหนักไว้เท่าเดิม และลดน้ำหนักการลงทุนลงมีจำนวนเท่ากัน (เทียบกับการสำรวจในไตรมาส 4/2008 ผู้จัดการกองทุนครึ่งหนึ่งเห็นว่าควรลดน้ำหนักการลงทุน ร้อยละ 30 เห็นว่าควรเพิ่มน้ำหนัก และร้อยละ 20 มีความเห็นเป็นกลาง)
- ตลาดพันธบัตรเกิดใหม่ที่ให้ผลตอบแทนสูง: ผู้จัดการกองทุนเห็นว่าตลาดนี้มีความน่าสนใจน้อยลง โดยมีเพียงร้อยละ 33 เท่านั้นที่เห็นว่าควรเพิ่มน้ำหนักการลงทุน (ลดลงจากร้อยละ 56 ในไตรมาสก่อนหน้า) ร้อยละ 33 มีความเห็นเป็นกลาง (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11 ในไตรมาสก่อนหน้า)
- ตลาดพันธบัตรสหรัฐอเมริกา: ผู้จัดการกองทุนร้อยละ 29 หันมาให้น้ำหนักกับตลาดพันธบัตรสหรัฐในไตรมาสนี้ (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11) และร้อยละ 43 เห็นว่าควรลดน้ำหนักการลงทุน (ลดลงจาก ร้อยละ 56 ในการสำรวจครั้งก่อน)
- ตลาดพันธบัตรในยุโรป: ครึ่งหนึ่งของผู้จัดการกองทุนเห็นว่าควรเพิ่มน้ำหนักการลงทุน (ลดลงจากร้อยละ 56 เมื่อไตรมาสที่แล้ว) และอีกครึ่งหนึ่งมีความเห็นเป็นกลาง (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 33) และไม่มีผู้จัดการกองทุนคนใดเห็นว่าควรลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดนี้ (เทียบกับร้อยละ 11 ที่มีความเห็นเช่นนี้ในไตรมาสก่อนหน้า)
มิสบอนนี เท อธิบายว่า “ภาวะเศรษฐกิจซบเซาและตลาดหุ้นที่ผันผวน ทำให้ผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่หันไปให้น้ำหนักกับการลงทุนในตลาดพันธบัตร โดยเฉพาะตลาดพันธบัตรยุโรป โดยคาดว่าดอกเบี้ยน่าจะมีแนวโน้มลดลงได้อีก และแม้ว่าขณะนี้จิตวิทยานักลงทุนที่มีต่อการลงทุนในหุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะดีขึ้นกว่าเดิม แต่นักลงทุนยังเป็นห่วงความเสี่ยงเรื่องอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวที่อาจสูงขึ้นได้ ขณะที่ผลตอบแทนของตั๋วเงินคลังสหรัฐลดลงในระดับที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ ส่วนด้านตลาดหุ้น ผู้จัดการกองทุนเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้นกับตลาดหุ้นจีน และจิตวิทยานักลงทุนที่มีต่อตลาดหุ้นสหรัฐ ปรับตัวดีขึ้นจากติดลบขึ้นมาเป็นกลาง”
นับตั้งแต่เริ่มจัดสำรวจความคิดเห็นของผู้จัดการกองทุนเมื่อไตรมาส 3/2006 เป็นต้นมา ขณะนี้ธนาคารเอชเอสบีซี ได้จัดทำ HSBC Fund Flow Tracker ซึ่งเป็นดัชนีวัดกระแสเงินลงทุนสะสมทั้งหมดเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐตลอดระยะเวลา 10 ไตรมาสที่ผ่านมา สำหรับกองทุนหุ้น ความเคลื่อนไหวของกระแสเงินลงทุนเป็นเครื่องมือติดตามภาวะตลาดหุ้นได้เป็นอย่างดี โดยแสดงกระแสเงินไหลเข้าสุทธิ (Net inflows) ระหว่างไตรมาส 3/2006 ถึง ไตรมาส 4/2007 และเริ่มมีกระแสเงินไหลออกสุทธิ (Net outflows) ตั้งแต่ไตรมาส 1/2008 เป็นต้นมา ส่วนความเคลื่อนไหวของกระแสเงินลงทุนในตลาดพันธบัตร แสดงให้เห็นว่านักลงทุนหันไปให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพของตราสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐระดับที่สามารถลงทุนได้ (US dollar investment grade corporate bonds) และตลาดพันธบัตรยุโรป (รวมสหราชอาณาจักร) และยังแสดงให้เห็นว่านักลงทุนมีการกระจายความเสี่ยงด้วยการลงทุนในตราสารที่หลากหลายขึ้น ส่วนกระแสเงินลงทุนที่ไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นจีนแสดงให้เห็นว่านักลงทุนยังคงความสนใจในตลาดแห่งนี้อยู่โดยตลอด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วรนันท์ สุทธปรีดา, สาวิตรี หมวดเมือง โทรศัพท์ 0-2614-4609, 0-2614-4606
หมายเหตุถึงบรรณาธิการ:
1. ผู้จัดการกองทุนที่ร่วมในการสำรวจ (Participating fund managers) ครั้งนี้ทั้ง 12 แห่ง ได้แก่
Alliance Bernstein, Allianz Global Investors, Baring Asset Management, Deutsche Asset Management,
Fidelity Investment Management, Franklin Templeton Investments, HSBC Global Asset Management,
INVESCO Asset Management, Investec Asset Management, JF Asset Management, Schroders Investment
Management และ Societe Generale
2. กระแสเงินลงทุนสุทธิ (Net fund flows) ได้จากการนำมูลค่าตลาดที่เพิ่มขึ้น มาหักออกจากยอดเงินที่เพิ่มขึ้นของกองทุนภายใต้การบริหารของบริษัทจัดการกองทุน ในไตรมาสที่ 4/2008
3. ปริมาณเงินลงทุนที่มีอยู่ทั่วโลก (Total global FUM) ข้อมูลจาก The Investment Company Institute ระบุว่าปริมาณ
เงินลงทุนที่มีอยู่ทั่วโลก ณ สิ้นไตรมาส 3/2008 อยู่ที่ 21.66 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
4. ธนาคารเอชเอสบีซี ในประเทศไทย
เอชเอสบีซีเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกในประเทศไทย เปิดสำนักงานให้บริการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2431 ด้วยประสบการณ์ด้านการเงินการธนาคารและเครือข่ายสาขากว้างขวางทั่วโลก รวมกับความรู้ความชำนาญของบุคลากรภายในประเทศ ธนาคารเอชเอสบีซีเปิดให้บริการด้านการเงินและการธนาคารเต็มรูปแบบ ทั้งบริการด้านเงินฝาก สินเชื่อธุรกิจ พาณิชย์ธนกิจ ธุรกิจสถาบันการเงิน บริการด้านบริหารเงินและตลาดทุน บริการดูแลและรับฝากหลักทรัพย์ บริการการค้าและเครือข่ายธุรกิจระหว่างประเทศ และบริการด้านการชำระเงินและบริหารเงินสดแก่ลูกค้าประเภทองค์กร ตลอดจนบริการบุคคลธนกิจและธุรกิจบัตรเครดิตแก่ลูกค้าประเภทบุคคล ธนาคารเอชเอสบีซีได้รับการยอมรับจากทั่วโลกในด้านบริการที่ได้มาตรฐานสูง ความมีจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจ และเจตนารมณ์ในการมุ่งมั่นบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม