กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
วันนี้ (5 มี.ค.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จัดงานเปิดตัวภาพลักษณ์ใหม่ ก้าวใหม่... สู่ I Bank ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพ โดยมี นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่าปี 2552 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของธนาคารอิสลาม ทั้งการเร่งขยายสินเชื่ออย่างก้าวกระโดดเป็น 24,000 ล้านบาท จาก 16,726 ล้านบาทในปี 2551 การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อาทิ สินเชื่อเช่าซื้อ (Hire purchase) โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ที่มีระยะเวลานานถึง 84 เดือน ใช้เงินดาวน์เพียง 10% อัตรากำไรร้อยละ 3.25 และยังมีโครงการสินเชื่อ refinance พิเศษ โดยเพิ่มเงินให้สินเชื่อร้อยละ 10 ของวงเงินเดิม และไม่มีการคืนเงินต้นใน 3 ปีแรก สำหรับการให้บริการลูกค้า ธนาคารสามารถ อนุมัติสินเชื่อได้ภายใน 1 วันในกรณีของ สินเชื่อเช่าซื้อ และ 7 วันในกรณีอื่น ๆ นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ธนาคารอิสลามยังปรับภาพลักษณ์ใหม่ สู่ I Bank
ศาสตราจารย์พลโทดร.สมชาย วิรุฬหผล ประธานกรรมการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ ว่า เนื่องจากทุกวันนี้ธุรกิจการเงินธนาคารมีการแข่งขันกันอย่างมาก ทำให้ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นธนาคารที่ดำเนินและให้บริการตามหลักศาสนาอิสลามเต็มรูปแบบแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ต้องก้าวสู่ความพร้อมที่จะเป็นสถาบันทางการเงินสำหรับประชาชนทั่วไป ที่จะให้บริการทางการเงินแก่ประชาชนทุกชาติ ทุกศาสนา เพื่อเป็นหนึ่งพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ด้านนายธีรศักดิ์ สุวรรณยศ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการดำเนินธุรกิจของธนาคาร อยู่ภายใต้หลักการที่ไม่ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม และต้องแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์อื่นได้ ซึ่งการปรับภาพลักษณ์ในวันนี้ ไม่เพียงแต่ปรับภาพลักษณ์ภายนอก แต่จะเน้นการให้บริการ และการจัดการที่ ทันสมัย รวดเร็ว เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนทุกศาสนา รวมถึงจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า
การปรับภาพลักษณ์ใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การปรับทัพ เพื่อรองรับการให้บริการที่ครอบคลุมทั้งด้านเงินฝาก และการให้สินเชื่อของธนาคาร โดยอยู่ภายใต้หลักการที่ถูกต้องตามหลักศาสนา เช่น สินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อบุคคล สินเชื่อและบริการด้านต่างประเทศ สินเชื่อเอสเอ็มอี รวมทั้งเสริมศักยภาพการให้บริการด้านสินเชื่อฮาลาล สินเชื่อเพื่อผู้แสวงบุญและผู้ประกอบการฮัจย์ และสินเชื่อเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งธนาคารอิสลามขอเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ตามทิศทางนโยบายของรัฐบาล