สกว.โชว์ผลงานวิจัยชาวบ้าน 10 ปี 1500 โครงการ สร้างงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น

ข่าวทั่วไป Thursday March 5, 2009 16:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--สกว. ปี พ.ศ.2541 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดตัว “งานวิจัยสายพันธุ์ใหม่” ที่เรียกว่า “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” ขึ้นในสาระบบงานวิจัยของประเทศ เพื่อหวังจะให้งานวิจัย “ไม่ต้องขึ้นหิ้ง” และให้ “งานวิจัย” เข้าถึงและรับใช้ผู้คนในทุกระดับของสังคมไทย 1 ทศวรรษผ่านไป มีงานวิจัยทั้งที่ดำเนินโดยชาวบ้านและนักวิชาการหลาย ๆ สาขาเกิดขึ้นทั่วประเทศกว่า 1,500 โครงการ และพบว่ากระบวนการที่เกิดในแต่ละพื้นที่ส่งผลให้เกิดการพัฒนาคน ทำให้ชุมชนสามารถแก้ปัญหาและค้นหาทางออกจากปัญหาได้ด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นยังเป็นสะพานเชื่อมระหว่างภูมิปัญญาเดิมกับความรู้สมัยใหม่และสถานการณ์ใหม่ได้เป็นอย่างดี จากวิกฤติเศรษฐกิจ สู่มิติใหม่ “งานวิจัยชาวบ้าน” วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ภาพที่เกิดขึ้นคือ ระบบเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศได้รับผลกระทบอย่างหนัก , วิกฤติการที่เรียกว่า “ต้มยำกุ้ง” ทำให้โรงงาน บริษัทห้างร้านหลายสิบแห่งปิดตัวลง ผู้คนตกงาน แรงงานจากเมืองไหลกลับสู่ชนบท ,และเกิดภาวะ “ข้าวยากหมากแพง” หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างพยายามหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งนักวิชาการหลายศาสตร์ หลายสาขาลงพื้นที่เพื่อหาทางนำเอาองค์ความรู้จากงานวิจัยไปช่วยแบ่งเบาภาระของชุมชนท้องถิ่น แต่พบว่า “ความรู้บนหิ้ง” ไม่สามารถช่วยขจัดปัดเป่าความทุกข์ยากของคนในชนบท สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดย ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ — หลง และทีมคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงตั้งวงคิด “ทำอย่างไร” เพื่อให้ “งานวิจัย” ได้รับใช้ชุมชนกระทั่งพบว่า... “ปัญหาอยู่ที่ชุมชน — คำตอบต้องอยู่ที่ชุมชน” เพราะ “งานวิจัยจะเป็นประโยชน์กับชาวบ้านจริง ๆ ชาวบ้านต้องเป็นผู้สงสัยเอง ต้องเป็นผู้ตั้งคำถาม และต้องเป็นผู้ลงมือทำด้วยตนเอง” ตุลาคม 2541 จึงเป็นก้าวแรกของ “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” (Community Base Research) (CBR.) ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ท้าทายสังคมด้วยการเปิดโอกาสให้ชาวบ้านใช้วิธีการที่เรียกว่า “งานวิจัย” เป็น “เครื่องมือ” ในการค้นหาปัญหา กระทั่งหาทางออกจาก “ปัญหา” ด้วยตนเอง จาก 1 ชุมชนที่ภาคเหนือ ค่อย ๆ เติบโตและเพิ่มปริมาณมากขึ้นตามระยะเวลาที่เดินผ่านไป , หลายชุมชนหลุดออกจากปัญหา และใช้ “กระบวนการวิจัย” เป็น “อาวุธทางปัญญา” ในการแก้ไขหรือ คลี่คลายปัญหาของชุมชนในระยะต่อ ๆ มา จากภาคเหนือสู่ภาคใต้ — เส้นทางของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น หลังวางพื้นฐาน CBR. (Community Base Research) ที่ภาคเหนือ ก็มีการกระจายตัวไปยังเครือข่ายและภาคีต่าง ๆ ตั้งแต่ภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคใต้ และแทรกซึมเข้าไปในกลุ่มและองค์กรต่าง ๆ ทั้งที่เป็นองค์กรของรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน หากใครได้มีโอกาสติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวในแวดวง “การพัฒนา” ย่อมจะพบชุมชนอย่าง “บ้านสามขา” ชุมชนเล็ก ๆ ในตำบลหัวเสือ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง ที่สามารถใช้ “กระบวนการวิจัย” จัดการกับปัญหา “หนี้สิน” ที่รุมเร้าชุมชนมากว่า 20 ปี จากชุมชนอ่อนแอ ไม่มีแม้แรงต้านกระแสทุนนิยมนอกชุมชนที่เดินทางเข้าไปพร้อม ๆ กับถนนที่ถูกตัดเข้าไปในช่วงที่ชนบทต้องได้รับการพัฒนา พลิกด้านมาเป็นชุมชนเข้มแข็ง และเป็นต้นแบบให้อีกหลาย ๆ ชุมชนใกล้เคียงได้ใช้เป็นตัวอย่างในการพัฒนาชุมชนของตนเอง ไม่นานหลังจากนั้น ชุมชน “แพรกหนามแดง” จากอัมพวา สมุทรสงคราม ก็ปรากฏโฉมขึ้นตามหน้าหนังสือพิมพ์ และสื่อมวลชนหลาย ๆ แขนงในฐานะของ “ชุมชมเข้มแข็ง” ที่สามารถใช้ “งานวิจัย” แก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เรื้อรังมากว่า 20 ปี จนกระทั่งได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภาครัฐอย่างกรมชลประทาน และยกให้เป็น “ต้นแบบ” ของชุมชนท้องถิ่นที่มีศักยภาพในด้านของการจัดการ “น้ำ” โดยชาวบ้าน ขยับลงไปทางใต้ โครงการวิจัยอย่าง “ผ้าทอนาหมื่นศรี” ที่อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ชาวบ้านที่นั่นก็ใช้ “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” เป็นเครื่องมือในการนำเอาภูมิปัญญาการทอผ้าที่กำลังจะสูญหายไปจากชุมชนกลับมา พร้อมกันนั้นก็ใช้กระบวนการเดียวกันช่วยพัฒนาลายผ้าจนกระทั่งทำให้ “ผ้าทอนาหมื่นศรี” กลายเป็นสินค้าเลื่องชื่อของจังหวัด เช่นเดียวกันกับที่ภาคอีสาน “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” ช่วยให้ชุมชนเล็ก ๆ ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำโขงอย่าง “บ้านผาชัน” ได้มีน้ำกินและใช้อย่างไม่ขาดแคลนตลอดทั้งปี ทั้งหมดเป็นเพียง “บางตัวอย่าง” จากโครงการวิจัยนับพันโครงการที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจิย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ให้การสนับสนุนทั้งงบประมาณ และทีมพี่เลี้ยงเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นมีโอกาสได้ทำวิจัยด้วยตัวเอง นับเป็นการทำลาย “ความเชื่อ” ว่า “ชาวบ้านทำวิจัยไม่ได้” ลงไปอย่างสิ้นเชิง 10 ปี งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น : 10 ปี แห่งกระบวนการทางปัญญา รอยต่อระหว่างปี 2551 -2552 “วิกฤติเศรษฐกิจ” กลับมาอีกรอบ พร้อม ๆ กับการก้าวไปข้างหน้าของกระบวนการทางปัญญา ซึ่งในห้วง 10 ปีของ “กระบวนการทางปัญญา” ได้ถูกพัฒนา ถ่ายทอด ส่งต่อ จากชุมชน สู่ชุมชน เป็น “เครือข่ายนักวิจัยเพื่อท้องถิ่น” ที่เข้มแข็งและทรงคุณค่า จึงนับเป็น 10 ปีแห่งการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (paradigm) จากงานวิจัยเป็นของนักวิชาการมาเป็น “งานวิจัยชาวบ้าน” และการเปลี่ยนแม่แบบทางความคิดนี้ เป็นการก้าวออกมาจากกรอบที่ว่า “งานวิจัยเป็นของสูง” ขณะเดียวกันก็เป็นการ “ติดอาวุธทางปัญญา” แก่ชุมชนท้องถิ่นอีกทางหนึ่ง บทพิสูจน์ที่ชัดเจนที่สุดคือการเติบโตและการขยายวงจาก 1 โครงการวิจัยเป็น 1,500 โครงการ มีนักวิจัยทั้งที่เป็นชนเผ่า เด็กเยาวชน ชาวบ้านธรรมดา ทหาร นักวิชาการ กลุ่มคนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และพระ กว่า 10,000, และกลุ่มคนเหล่านี้นอกจากจะใช้ “งานวิจัย” คลี่คลายปัญหาในชุมชนที่ตนเองสังกัด หากยังได้พยายามใช้ “กระบวนการมีส่วนร่วม” ซึ่งเป็น “เครื่องมือ” สำคัญของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์กับกลุ่มองค์กรภาคี โดยเฉพาะกลุ่ม และองค์กรในระดับนโยบายของประเทศ และในวาระของการครบรอบ “10 ปีงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น จึงได้จัดงาน 10 ปีงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ในระหว่างวันที่ 20-21 มีนาคม 2552 ณ อิมแพคเมืองทองธานี เพื่อนำเสนอผลงานของนักวิจัยชาวบ้านกว่า 1,500 คน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็น “ตัวจริงเสียงจริง” จากชุมชนวิจัยจากทั่วประเทศ จึงนับเป็นโอกาสสำคัญที่กลุ่มและ/หรือองค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรภาครัฐหรือเอกชนเข้าร่วมศึกษาเรียนรู้เพื่อที่นำ “เครื่องมือ” ที่เรียกว่า “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น”มาปรับใช้เป็น “ฐาน” ของการทำงาน ทั้งนี้มิได้เพื่อประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง หากเป็นประโยชน์ของกลุ่มคนทุก ๆ กลุ่มในสังคมไทย

แท็ก สกว.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ