บริษัทจดทะเบียนทำกำไรปี 2551 กว่าสามแสนหนึ่งหมื่นล้านบาท

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 5, 2009 17:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--ตลท. บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ทำกำไรงวดปี 2551 รวมกัน 313,068 ล้านบาท และมียอดขายรวม 7,376,036 ล้านบาท ขณะที่บริษัทจดทะเบียนมีอัตราเงินปันผลตอบแทนเฉลี่ยถึงร้อยละ 6.65 กลุ่มที่มีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิสูงสุด ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเงิน มีกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 396 รองลงมาได้แก่ กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารมีกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 67 ในขณะที่ PTT PTTEP SCB BBL และ SCC ครองแชมป์บริษัทที่มีกำไรสุทธิสูงสุด 5 อันดับแรก สำหรับผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 4 ปี 2551 ขาดทุนสุทธิรวม 83,401 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 104,819 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 180 โดยส่วนใหญ่มาจากผลประกอบการของบริษัทในหมวดพลังงานและสาธารณูปโภคที่ขาดทุนสุทธิร้อยละ 77 ของขาดทุนสุทธิของบริษัทจดทะเบียนรวม ซึ่งมีสาเหตุมาจากผลขาดทุนของสต็อกน้ำมันจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วและขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) จำนวน 532 บริษัท หรือร้อยละ 97 ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด 546 บริษัท (รวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 21 กองทุน) ได้ส่งงบการเงินงวดสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2551 แล้ว โดยมีกำไรรวมกัน 313,068 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 109,086 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 25 ทั้งนี้ หากไม่รวมผลการดำเนินงานของบริษัทในกลุ่ม NC (Non-Compliance) และ NPG (Non-Performing Group) ในงวด ปี 2551 บริษัทจดทะเบียนจะมีกำไรสุทธิเท่ากับ 309,973 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 27 สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกำไรสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจการเงิน กลุ่มทรัพยากร และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง สำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) ที่ส่งงบการเงินประจำปี 2551 จำนวน 481 บริษัท (จากทั้งหมด 495 บริษัท) มีกำไรสุทธิรวม 310,549 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 25 โดยมียอดขายรวม 7,326,283 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ร้อยละ 22 “สาเหตุหลักที่ทำให้บริษัทจดทะเบียนโดยรวมมีกำไรลดลงจากปี 2550 มาจากผลขาดทุนจากการดำเนินงานของกลุ่มพลังงานในไตรมาสที่สี่ และการอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลให้บริษัทจดทะเบียนที่มีภาระหนี้ต่างประเทศขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 15,456 ล้านบาท ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศมีแนวโน้มตกต่ำในช่วงปลายปี ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าผลประกอบการโดยรวมงวดปี 2551 ลดลง แต่บริษัทจดทะเบียนรวม SET และ mai ยังสามารถทำยอดขายสูงถึง 7.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ร้อยละ 22 นอกจากนี้ ถ้าพิจารณาในด้านอัตราเงินปันผลตอบแทน ซึ่งมีบริษัทจดทะเบียน 272 บริษัท ประกาศจ่ายเงินปันผลงวดปี 2551 แล้ว พบว่ามีอัตราเงินปันผลตอบแทนสูงถึงร้อยละ 6.65” นางภัทรียากล่าว สำหรับบริษัทในกลุ่ม SET50 มีกำไรสุทธิ 260,498 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 83 ของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนรวม (313,068 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 22 ยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 ขณะที่ต้นทุนขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 32 จึงทำให้กำไรขั้นต้นลดลงเป็นร้อยละ 16 ส่วนบริษัทในกลุ่ม SET100 มีกำไรสุทธิ 266,085 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 85 ของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนรวม (313,068 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 30 ยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ขณะที่ต้นทุนขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 31 จึงทำให้กำไรขั้นต้นลดลงเป็นร้อยละ 16 ทั้งนี้ หากพิจารณากลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจการเงินมีกำไรสุทธิ 89,945 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 396 และกลุ่มเกษตรและกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร มีกำไรสุทธิ 18,079 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 67 สำหรับบริษัทจดทะเบียนมีกำไรสุทธิสูงสุด 5 อันดับแรก คือ บมจ. ปตท. (PTT) บมจ. ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และบมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ผลการดำเนินงานปี 2551 ของบริษัทจดทะเบียน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม (Industry Group) (ที่นำส่งงบการเงินและไม่รวมบริษัทในกลุ่ม NC และ NPG) จำนวนรวม 463 บริษัท มีกำไรสุทธิลดลงเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ยกเว้นกลุ่มธุรกิจการเงิน และกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร โดยมีกำไรสุทธิ 307,454 ล้านบาท ลดลงจากปี 2550 ร้อยละ 27 ขณะที่มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 แต่อัตรากำไรขั้นต้นก็ปรับลดจากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 16 ทั้งนี้หากพิจารณาผลการดำเนินงานไตรมาส 4 ปี 2551 ของบริษัทจดทะเบียน 8 กลุ่มอุตสาหกรรมพบว่ามีเพียงกลุ่มธุรกิจการเงินเท่านั้นที่มีกำไรสุทธิปรับเพิ่มจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 19,532 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นมีกำไรสุทธิลดลง สำหรับผลการดำเนินงานปี 2551 เรียงลำดับตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกำไรสุทธิสูงสุด ดังนี้ 1. กลุ่มธุรกิจการเงิน (FINCIAL) ประกอบด้วย หมวดธนาคาร หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ และหมวดประกันภัยและประกันชีวิต มีกำไรสุทธิ 89,945 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ร้อยละ 396 ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ 12 แห่ง ในงวดปี 2551 มีกำไรสุทธิรวม 83,425 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนเท่ากับ 75,144 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 907 โดยมีสาเหตุหลักมาจากปี 2550 มีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตามเกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับ IAS 39 ของธนาคารพาณิชย์ ทำให้ธนาคารมีหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ปี 2551 ธนาคารพาณิชย์ไม่ต้องตั้งสำรองจำนวนมากเช่นปีก่อน ส่งผลให้ปี 2551 มีหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญลดลงร้อยละ 52 อีกทั้งธนาคารพาณิชย์มีการขยายตัวของรายได้และเงินปันผลสุทธิที่เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนบริษัทในหมวดธุรกิจหลักทรัพย์ (ไม่รวมบริษัทที่ประกอบธุรกิจเช่าซื้อและลิสซิ่ง) จำนวน 16 บริษัท มีผลประกอบการงวดปี 2551 ขาดทุนสุทธิ 14 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 101 จากที่มีกำไรในงวดปี 2550 ที่ 2,273 ล้านบาท เป็นผลจากการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 1,296 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 260 ล้านบาท และการลดลงของกำไรจากพอร์ตการลงทุน 708 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 72 จากงวดปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ 988 ล้านบาท นอกจากนี้ รายได้ค่านายหน้ารวม ซึ่งเป็นรายได้หลักลดลงจาก 9,180 ล้านบาท มาอยู่ที่ 8,367 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 9 สำหรับบริษัทประกันภัย 15 บริษัทและบริษัทประกันชีวิต 1 บริษัท มีกำไรสุทธิปี 2551 จำนวน 3,511 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับปี 2550 ที่มีกำไรสุทธิจำนวน 4,087 ล้านบาท เนื่องจากรายได้และกำไรจากการลงทุนลดลงกว่าร้อยละ 46 จาก 4,340 ล้านบาทในปี 2550 เหลือ 2,326 ล้านบาทในปีปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เบี้ยประกันภัยรับสุทธิยังคงเพิ่มขึ้นจาก 37,012 ล้านบาท เป็น 43,274 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 2. กลุ่มทรัพยากร (RESOURC) ประกอบด้วย หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค และหมวดเหมืองแร่ มีกำไรสุทธิ 89,670 ล้านบาท ลดจากปี 2550 ร้อยละ 55 3. กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง (PROPCON) ประกอบด้วยหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หมวดวัสดุก่อสร้าง และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ มีกำไรสุทธิ 42,150 ล้านบาท ลดลงจากปี 2550 ร้อยละ 39 4. กลุ่มเทคโนโลยี (TECH) ประกอบด้วยหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีกำไรสุทธิ 31,883 ล้านบาท ลดลงจากปี 2550 ร้อยละ 25 5. กลุ่มบริการ (SERVICE) ประกอบด้วย หมวดการแพทย์ หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ หมวดขนส่งและโลจิสติกส์ หมวดบริการเฉพาะกิจ หมวดพาณิชย์ และหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ มีกำไรสุทธิ 19,413 ล้านบาท ลดลงจากปี 2550 ร้อยละ 53 6. กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร (AGRO) ประกอบด้วย หมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดธุรกิจการเกษตร มีกำไรสุทธิ 18,079 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ร้อยละ 67 7. กลุ่มวัตถุดิบสินค้าอุตสาหกรรม (INDUS) ประกอบด้วย หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ หมวดวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร หมวดบรรจุภัณฑ์ หมวดกระดาษและวัสดุการพิมพ์ และหมวดยานยนต์ มีกำไรสุทธิ 11,341 ล้านบาท ลดลงจากปี 2550 ร้อยละ 67 8. กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (CONSUMP) ประกอบด้วย หมวดของใช้ในครัวเรือน หมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ หมวดแฟชั่น มีกำไรสุทธิ 4,974 ล้านบาท ลดลงจากปี 2550 ร้อยละ 29 ติดต่อส่วนประชาสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 — 2036 / กนกวรรณ เข็มมาลัย โทร. 0-2229 — 2048วรรษมน เสาวคนธ์เสถียร โทร. 0-2229-2797

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ