กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กรีนพีซแสดงความยินดีกรณีศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่และระยองตัดสินมอบความเป็นธรรมให้แก่ผู้เสียหาย พร้อมย้ำเตือนให้รัฐบาลไทยสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนว่าผลการพิพากษาของศาลทั้งสองแห่ง ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการ “ผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่าย” และ “ป้องกันไว้ก่อน” นั้น จะถูกดำเนินการด้วยความรวดเร็วและโปร่งใส
วันที่ 3 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมา ศาลปกครองจังหวัดระยองมีคำสั่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่อุตสาหกรรมมาบตาพุด รวมทั้งพื้นที่รอบเขตอุตสาหกรรม นั่นคือ ตำบลเนินพระ ตำบลมาบข่า ตำบลทับมา อำเภอเมือง เพื่อดำเนินการควบคุมและกำจัดมลพิษให้อยู่ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัย โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
ต่อมา ในวันที่ 4 มีนาคม 2552 ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ได้ตัดสินให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชดเชยเงินเป็นค่าเสื่อมสุขภาพให้กับชาวแม่เมาะ จังหวัดลำปาง จำนวน 130 คนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษในอากาศจากโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน โดยชดเชยค่าเสียหายรายละ 240,000 บาท นอกจากนี้ยังให้ กฟผ. อพยพราษฎรออกนอกรัศมี 5 กิโลเมตร และให้ปลูกป่าในพื้นที่ที่สร้างสนามกอล์ฟ
“คำพิพากษาของทั้งสองกรณีนี้ ถือเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของชาวมาบตาพุดและชาวแม่เมาะที่ได้ต่อสู้มาอย่างยาวนาน และยังเป็นการเรียกความเชื่อมั่นของคนไทยต่อกระบวนการยุติธรรมให้กลับคืนมา กรีนพีซได้ร่วมต่อสู้กับเครือข่ายทั้งสองแห่งนี้ ถึงแม้จะได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ ต้องประสบกับความสูญเสียในชีวิตและความเป็นอยู่ หรือแม้กระทั่งภัยคุกคามจากกลุ่มผลประโยชน์ แต่ทั้งสองชุมชนต่างเดินหน้าต่อสู้อย่างไม่ท้อถอย เพื่อเปิดโปงต้นทุนอันสกปรกซึ่งแท้จริงเกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ไร้การตรวจสอบ” นายธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว นายธาราได้เสริมต่อไปว่า “คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติควรเร่งดำเนินการจัดทำทำเนียบการปล่อยสารพิษ และสิทธิในการรับรู้ของชุมชน เพื่อเป็นกลไกการป้องกันล่วงหน้า”
ในกระบวนการพิพากษา ศาลปกครองจังหวัดระยองได้อ้างอิงรายงานของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งระบุว่าพบสารอินทรีย์ระเหยมากว่า 40 ชนิด ในอากาศของพื้นที่มาบตาพุด เป็นสารก่อมะเร็ง 20 ชนิด และใน 20 ชนิดพบสารอินทรีย์ระเหยก่อมะเร็งที่มีค่าเกินระดับที่ปลอดภัยต่อสุขภาพในพื้นที่มาบตาพุด และจากรายงานของสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่าอัตราผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งในอำเภอเมือง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540-2544 สูงกว่าอัตราผู้ป่วยโรคมะเร็งในอำเภออื่นๆ ถึง 3-5 เท่า นอกจากนี้ น้ำผิวดินและใต้ดินในพื้นที่มาบตาพุดนั้น ยังปนเปื้อนไปด้วยสารโลหะหนักอย่างเช่น นิกเกิล ทองแดง ปรอท และสารประกอบอาเซนิก
โรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยเริ่มจากการดำเนินการขนาดเล็ก ในช่วงปี 2503 และขยายใหญ่ขึ้นในช่วง 2523 ทุกๆปี โรงไฟฟ้าแม่เมาะปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ประมาณ 1.6 ล้านตัน ส่งผลต่อสุขภาพของชุมชนและทำลายสิ่งแวดล้อมโดยรอบ ในแต่ละปีโรงไฟฟ้าดังกล่าวยังเป็นต้นเหตุของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 4 ล้านตัน ออกสู่อากาศ (1)
“การที่อุตสาหกรรมถ่านหินและสารเคมี หรือกลุ่มผลประโยชน์ในรัฐบาล เพิกเฉยต่อคำพิพากษาของศาลปกครอง ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของลูกหลานของเรา และคนรุ่นต่อไป” นายชัยเลนดรา ยาชวัน ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว
หมายเหตุ
(1) บทสรุป “ต้นทุนที่แท้จริงของถ่านหิน” http://www.greenpeace.org/seasia/th/press/reports/true-cost-of-coal-briefing
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โทร 089-476-9977
พลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ โทร. 081-658-9432
วิริยา กิ่งวัชระพงศ์ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน โทร 089-487-0678