กรุงเทพฯ--10 ก.ค.--แม็กซิม่า คอลซัลแตนท์
อุทยานการเรียนรู้ (ทีเค ปาร์ค) แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน ส่งเสริมเด็กไทยให้รักการอ่าน ด้วยการจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการ หัวข้อ “ชวนเด็กไทยให้เป็นนักอ่าน” ขึ้น ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 6 — 8 กรกฎาคมนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 4 โดยอุทยานการเรียนรู้ได้เชิญวิทยากรทรงคุณวุฒิทั้งไทยและเทศ ร่วมนำสัมมนาท่ามกลางแขกผู้ที่สนใจทั้งจากแวดวงคณาจารย์ บรรณารักษ์ ตลอดจนคนทำหนังสือ มาร่วมสัมมนาจำนวนมาก
ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานกรรมการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ กล่าวว่า “การพัฒนาสังคมไทยยุคใหม่ให้เป็นสังคมฐานความรู้ ทุกคนในสังคมจะต้องรักการอ่าน และมุ่งมั่นในการแสวงหาความรู้ ตลอดจนตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิต จากการตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว อุทยานการเรียนรู้ในฐานะองค์กรที่สนับสนุนการอ่านหนังสือของเยาวชน จึงได้ดำเนินการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ผลิตสื่อเพื่อส่งเสริมการอ่าน และริเริ่มโครงการวิจัยเกี่ยวกับเทคนิคส่งเสริมการอ่านในเยาวชนทุกช่วงวัย รวมทั้งเด็กพิเศษประเภทต่างๆ ทำให้รวบรวมองค์ความรู้ด้านการส่งเสริมการอ่านและสื่อส่งเสริมการอ่านไว้เป็นจำนวนมาก อาทิ การส่งเสริมการอ่านเด็กปฐมวัยโดยภาษาถิ่นด้วยหนังสือเล่มแรก (Bookstart) การส่งเสริมการอ่านสำหรับวัยเด็กเล็กและอนุบาล เทคนิคส่งเสริมการอ่านสำหรับวัยประถม เทคนิคส่งเสริมการอ่านสำหรับวัยรุ่น เทคนิคส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็กออทิสติก เทคนิคส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็กแอลดีและสมาธิสั้น เทคนิคส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็กที่บกพร่องทางการได้ยิน
ในขณะเดียวกันในปีนี้สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยและมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ได้จัดงานเทศกาลหนังสือเด็กและเยาวชน ครั้งที่ 4 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ณ โอกาสนี้เราจึงจัดประชุมสัมมนาทางวิชาการ หัวข้อ “ชวนเด็กไทยให้เป็นนักอ่าน” ขึ้น นอกจากจะได้นำเอาผลงานวิจัยเกี่ยวกับเทคนิคส่งเสริมการอ่านทุกชิ้นมาเผยแพร่ผ่านเวทีสาธารณะแล้ว ยังเป็นการรณรงค์ส่งเสริมให้คนไทยตั้งแต่เด็ก เยาวชน ตลอดจนผู้ใหญ่ทุกสาขาอาชีพ เห็นถึงความสำคัญของการอ่าน และอ่านหนังสืออย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู และบรรณารักษ์รู้จักเทคนิควิธีส่งเสริมการอ่านแก่เด็กและเยาวชนอย่างเหมาะสมและได้ผล อันจะส่งผลให้เกิดความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งกว้างขวางต่อไป
วีธีการที่ ทีเค ปาร์ค อยากจะแนะนำให้เด็กอ่านหนังสือ เราต้องทำให้เด็กรู้สึกว่าเขาอยากจะอ่านหนังสือเอง ไม่ได้ถูกบังคับให้อ่าน และช่วยสร้างบรรยากาศการอ่านให้น่ารื่นรมย์ สนุกสนาน พยายามเชื่อมโยงการอ่านกับกิจกรรมต่างๆ ของเด็ก เช่น ภาพยนตร์ ดนตรี เทคโนโลยี หรือการตกแต่งหนังสือให้เข้าถึงเด็กเช่นการทำ e — Books หรือที่เราเรียกว่าหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนสร้างสถานที่ให้เด็กๆ ตื่นตาตื่นใจ ชื่นชอบที่จะมาอ่านหนังสือที่นั่น โดยงานที่เราจัดขึ้นนี้ก็เพื่อจะให้คำตอบว่า เด็กแต่ละวัย แต่ละกลุ่ม เด็กออทิสติก หรือเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ ก็มีความชื่นชอบและวิธี
อ่านหนังสือที่แตกต่างกันไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกๆ คนโดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่อยู่รอบข้างเด็กๆ เช่นกัน“ จากนั้น มิสจูเลีย สตรอง ผู้ช่วยผู้อำนวยการกองทุนส่งเสริมการรู้หนังสือแห่งชาติ (National Literacy Trust) ของประเทศอังกฤษ ได้กล่าวแนะนำเรื่องการอ่านสำหรับเด็ก ในหัวข้อ “เปลี่ยนนักแช็ทให้เป็นนักอ่าน” ว่า “การอ่านเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คุณรู้รอบด้าน เป็นพลังสำคัญของชีวิตสามารถผลักดันให้คุณประสพความสำเร็จได้ การจะฝึกให้เด็กเป็นนักอ่านที่ดี ควรจะดึงพ่อแม่ซึ่งเป็นกุญแจที่สำคัญของลูกเข้ามามีส่วนร่วมในการอ่าน จากการวิจัยพบว่า พ่อแม่มีผลต่อการอ่านของเด็กและเป็นตัวตัดสินที่สำคัญที่สุดในพัฒนาการทางภาษาและการรู้หนังสือ ดังนั้น พ่อแม่จึงควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการอ่านหนังสือให้ลูกเห็น ควรอ่านหนังสือกับลูกๆ ภายในครอบครัวของคุณ และควรสนับสนุนให้ครอบครัวพูดคุยกันเรื่องหนังสือบ้าง ตลอดจนควรแนะนำให้เด็กๆ อ่านหนังสือหลายๆ แบบอย่างกว้างขวาง ส่วนการที่เด็กใช้ชีวิตอยู่กับเครื่องใช้ทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ทีวี มือถือ เกม อินเตอร์เน็ต ไอพ็อด ฯลฯ มาก จะทำให้เขาห่างเหินจากพ่อแม่ ซึ่งพ่อแม่ไม่ควรต่อต้าน แต่ควรชี้ให้บุตรหลานเห็นว่าการอ่านจะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ และเป็นเรื่องสนุกด้วย
ในขณะที่โรงเรียนก็ควรสร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมที่เด็กนักเรียนทุกคน จะได้รับการส่งเสริมให้เป็นนักอ่านที่มีความกระตือรือร้น และหาวิธีการที่จะสนับสนุนพ่อแม่ในการส่งเสริมให้เด็กอ่านหนังสือเวลาอยู่ที่บ้าน ตลอดจนโน้มน้าวให้เด็กผู้ชายซึ่งจะไม่ชอบอ่านหนังสือให้หันมาอ่านหนังสือมากขึ้น โรงเรียนอาจจัดการประชุมหารือร่วมกันกับผู้ปกครองในเรื่องการอ่านหนังสือและโรงเรียนควรทำให้การอ่านเป็นสิ่งที่เห็นได้ทั่วไป เช่น มีบอร์ด มีเว็บไซต์ของโรงเรียน เป็นต้น และโรงเรียนควรสนับสนุนให้เด็กมีส่วนร่วมในการปรับปรุงห้องสมุดและสร้างมุมพิเศษ เพื่อแนะนำหนังสือที่ตนสนใจประเภทต่างๆ เช่น กีฬา หนังสือเด็กผู้ชาย หนังสือเด็กผู้หญิง นอกจากนั้น โรงเรียนควรจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการอ่าน โดยชักจูงพ่อแม่และเด็กให้มีส่วนร่วมด้วยกัน เช่น จัดทำโครงการคู่หูในการอ่าน กิจกรรมการเล่านิทานฯลฯ ร่วมทั้งเชื่อมโยงข้อมูลแหล่งความคิดที่เด็กสนใจเข้ากับการอ่าน เช่น เด็กผู้ชายชอบฟุตบอล ชอบเกม ชอบฮีโร่ เด็กผู้หญิงชอบดารา ชอบความสวยงาม เป็นต้น ก็สามารถนำมาทำเป็นโครงการ กิจกรรม และโปสเตอร์ รณรงค์ส่งเสริมด้านการอ่านได้ ถ้าทุกครอบครัวทุกโรงเรียนกระตือรือร้นในเรื่องนี้อย่างจริงจังและผนึกกำลังเข้าด้วยกัน จะสามารถทำให้บ้านทุกหลังโรงเรียนทุกโรงเรียนรักการอ่าน และที่สำคัญคือเด็กๆ ทุกคนกลายเป็นนักอ่านได้อย่างแน่นอน”
สรุปแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดคือพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างและต้นแบบที่ดีในการอ่านหนังสือ ร่วมถึงสมาชิกในครอบครัว นั่นเอง!!
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
บริษัทแม็กซิม่า คอลซัลแตนท์ จำกัด โทร 0-2434-8300
คุณสุจินดา, คุณแสงนภา, คุณปิติยา
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net