กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--ปภ.
คณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ (กปอ.) จัดประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๕๒ เพื่อพิจารณายุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันจากไฟป่า ซึ่งแพร่กระจายมาจากต่างประเทศ โดยเน้นการสร้างกลไกในการติดตามตรวจสอบพื้นที่เกิดเพลิงไหม้ รวมถึงสนับสนุนการวิจัยและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการระงับไฟ การควบคุมหมอกควัน และการลดเศษวัสดุเหลือใช้ในภาคการเกษตร และการจัดการขยะมูลฝอยในชุมชน รวมทั้งเสนอให้จัดทำแผนหลักการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ โดยผลักดันให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในสังคมไทย
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ (กปอ.) กล่าวว่า หลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดในภาคเหนือตอนบนประสบปัญหาหมอกควันปกคลุมและมีปริมาณฝุ่นละอองเกินเกณฑ์ ค่ามาตรฐาน สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งการเผาวัสดุ ขยะมูลฝอยของประชาชนในพื้นที่ ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการปัญหาไฟป่าหมอกควันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะหน่วยงานกลางของภาครัฐด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับประเทศ และเลขานุการ กปอ. จึงได้จัดประชุมคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ (กปอ.) ครั้งที่ ๑/๒๕๕๒ เพื่อพิจารณาร่างยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันจากไฟป่า ซึ่งแพร่กระจายมาจากต่างประเทศ ประกอบด้วยแนวทางและมาตรการในการบริหารจัดการ ๒ ด้าน ได้แก่ ด้านการจัดการไฟป่าได้กำหนดมาตรการครอบคลุมการดำเนินงานใน ๓ ขั้นตอน ตั้งแต่ก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และภายหลังเกิดภัย เน้นหนักด้านการเตรียมความพร้อมก่อนเกิดภัย กำหนดให้มีการตรวจติดตามและแจ้งเตือนไฟป่าโดยใช้เทคโนโลยีดาวเทียม และจัดทำฐานข้อมูล ในระบบ GIS การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายจากไฟป่าและหมอกควันอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาไฟป่า พร้อมจัดระเบียบและควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตรที่อยู่ติดเขตป่า สำหรับมาตรการบริหารจัดการด้านหมอกควัน แบ่งเป็น ๒ ส่วน ได้แก่ หมอกควันจากไฟป่าซึ่งแพร่กระจายมาจากต่างประเทศ ได้กำหนดมาตรการรองรับข้อตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน โดยแต่งตั้งหน่วยงานกลางในการประสานดำเนินการตามข้อตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษจากหมอกควัน รวมทั้งการสร้างกลไกการติดตามตรวจสอบพื้นที่ที่อาจเกิดไฟไหม้ทุกพื้นที่รวมถึงพื้นที่ป่าไม้ที่จะทำให้เกิดหมอกควัน จัดเตรียมวิธีปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเพื่อใช้ในการปฏิบัติทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาค ตลอดจนสนับสนุนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เพื่อคิดค้นวิธีการจัดการไฟที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพในการควบคุมหมอกควัน ส่วนการจัดการปัญหาหมอกควันในประเทศได้กำหนดแนวทางในการจัดการวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตร โดยส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ที่ช่วยลดเศษวัสดุเหลือใช้และเสริมประสิทธิภาพเชิงนิเวศ รวมถึงให้มีการนำเศษวัสดุเหลือไปใช้ประโยชน์อื่นแทนการเผา โดยจัดหาตลาดรองรับสินค้าการเกษตรอย่างครบวงจร ส่วนการจัดการขยะมูลฝอยในชุมชน ได้สนับสนุนให้คัดแยกและนำขยะมูลฝอยมาใช้ประโยชน์ใหม่ ทั้งนี้ หากที่ประชุมกปอ. เห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว จะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า ที่ประชุม กปอ. ยังได้พิจารณาเสนอให้จัดทำแผนหลักการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติของ กปอ. (พ.ศ. ๒๕.. — ๒๕...) เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันอุบัติภัย โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ด้วยการเสริมสร้างการเรียนรู้ ความตระหนัก และพฤติกรรมความปลอดภัยในชีวิตประจำวัน รวมถึงการสร้างมาตรฐานและระบบความปลอดภัย ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการจัดทำแผนการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติดำเนินการยกร่างแผน เพื่อเสนอคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ (กปอ.) พิจารณาก่อนที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
กองประชาสัมพันธ์
0-2243-0674
สายด่วน 1784