กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--สกว.
รายงานข่าวจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) แจ้งว่า สกว. กำลังให้ทุนสนับสนุนการวิจัยเรื่อง “พลวัตรและการใช้ประโยชน์จากปลาในจังหวัดยโสธร” โดยมี ผศ.น.สพ.ดร.วรพล เองวานิช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อให้ได้ข้อมูลภาพรวมปริมาณการผลิตและใช้ประโยชน์จากปลาในจังหวัดยโสธร และเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือและส่งเสริมอาชีพประมงแก่เกษตรกรอย่างเหมาะสม จากข้อมูลการสำรวจเบื้องต้นพบว่า นพื้นที่จังหวัดยโสธรมีลู่ทางและศักยภาพการทำประมงสูง เพียงแต่ต้องมีการวางแผนการจัดการปลายทางให้ดี
ผศ.น.สพ.ดร.วรพล กล่าวว่า งานวิจัยนี้เริ่มต้นจากจังหวัดยโสธรประสบปัญหาปลานิลของชาวประมงที่เลี้ยงในกระชังริมฝั่งแม่น้ำชีตายเป็นจำนวนมาก ในระยะแรกการพัฒนาโจทย์วิจัยจึงมุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาแหล่งน้ำเน่าเสีย แต่เมื่อศึกษาไประยะหนึ่งกลับพบว่า ไม่เพียงแต่ปัญหาน้ำเน่าเสียและการบริหารจัดการน้ำร่วมระหว่างรัฐกับประชาชนเท่านั้น แต่ผู้เลี้ยงปลาดังกล่าวยังประสบปัญหาหนี้สินกันเป็นจำนวนมาก เพราะต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์ อาหาร เวชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ รวมทั้งพันธุ์ปลา เองทั้งหมด ในขณะที่รายได้ลดลงจากประมาณการมากเนื่องจากปลาตายระหว่างการเลี้ยง ดังนั้นโจทย์วิจัยจึงเปลี่ยนไป เนื่องจากเห็นว่าหากจะช่วยเหลือเกษตรกรจริง จะต้องมองภาพรวมของการประกอบอาชีพประมงของทั้งจังหวัดให้ได้ก่อน งานวิจัยนี้จึงมีโจทย์วิจัยในเบื้องต้นว่า ปลาในจังหวัดยโสธรเพียงพอกับความต้องการหรือไม่ มีการใช้ประโยชน์ปลาอย่างไรบ้าง หากเกษตรกรไม่เลี้ยงปลาในกระชัง จะมีอาชีพอื่นเป็นทางเลือกหรือไม่
“โครงการนี้มีระยะเวลาดำเนินการ 15 เดือน ขณะนี้ผ่านไปแล้ว 3 เดือน คณะผู้วิจัยได้เก็บข้อมูลในหลายพื้นที่แล้ว และสามารถสรุปในเบื้องต้นได้ว่า ยโสธรมีความต้องการปลาสูง มีศักยภาพและลู่ทางในการทำประมงมาก โดยเฉพาะด้านการเลี้ยงปลาที่เลี้ยงง่ายและเป็นที่ต้องการของผู้ผลิตปลาส้ม ซึ่งเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมขึ้นชื่อของจังหวัด อย่างเช่น ปลาตะเพียน ปลาสวายและปลานวลจันทร์ เนื่องจากปลาที่ใช้ผลิตปลาส้มเหล่านี้ทั้งหมดไม่ใช่ปลาภายในจังหวัดยโสธร ส่วนใหญ่เป็นปลาที่นำเข้ามาจากจังหวัดแถบภาคกลาง ในแต่ละเดือนปลาเหล่านี้จะถูกนำเข้ามาในยโสธรมากกว่า 30 ตัน เพื่อผลิตปลาส้มซึ่งเป็นปริมาณที่สูงมาก” น.สพ.ดร.วรพล กล่าว
“ขณะเดียวกันปลาร้าที่ขายในตลาดยโสธรส่วนใหญ่ก็เป็นปลาร้าที่มาจากอุบลราชธานี กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด โดยผู้ค้าบอกว่า ปลาร้าที่ขายดีที่สุดคือปลาร้าที่ทำจากปลาหมอ ดังนั้นหากทางจังหวัดสามารถส่งเสริมการเลี้ยงปลาเหล่านี้ได้ มูลค่าปลาก็จะได้ตกอยู่ในจังหวัด” นอกจากนี้ ผศ.น.สพ.ดร.วรพล กล่าว
ผศ.น.สพ.ดร.วรพล กล่าวด้วยว่า “ปลาที่มีความสำคัญสำหรับวิถีชีวิตของชาวยโสธรมากคือ ปลาหลุม ซึ่งเป็นปลาธรรมชาติและมีในบ่อภายในที่นาของเกษตรกรทั่วไป เป็นปลาที่มีปริมาณและการใช้ประโยชน์มากเป็นอันดับหนึ่งของจังหวัด รวมทั้งมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในจังหวัดมากกว่าปลาจากแหล่งอื่น เฉพาะที่ตลาดตาดทอง ช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยวแต่ละวันมีรถกระบะ 20-30 คันไปเหมาบ่อมาแล้วมานั่งขาย ถ้าคิดเฉพาะราคาเหมาบ่อละ 4-6 พันบาท คูณจำนวนรถ มูลค่าก็จะตกประมาณวันละ 125,000 บาท ซึ่งในแต่ละปีเกษตรกรจะจับปลาหลุมได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน”
อีกแนวทางหนึ่งในการส่งเสริมอาชีพประมงคือ หาทางเพิ่มหรือขยายปริมาณการผลิตปลาหลุมหรือปลาที่ได้จากบ่อในที่นา เพราะจากการสำรวจพบว่าหากจำนวนปลาหลุมในจังหวัดไม่เพียงพอกับการบริโภค จะมีการนำเข้าปลาดังกล่าวจากจังหวัดใกล้เคียงถึงปีละประมาณ 150-200 ล้านบาท ดังนั้นหากสามารถเพิ่มจำนวนบ่อเพาะเลี้ยงและขยายเวลาการเลี้ยงปลาหลุมได้ เกษตรกรก็จะมีทางเลือกอาชีพที่ดี เพราะไม่ต้องลงทุนสูงเพียงแต่เพิ่มจำนวนบ่อในที่นาของตนเองเท่านั้น มูลค่าปลาสดก็ตกจะอยู่ในจังหวัด และสามารถลดการเลี้ยงปลากระชังแบบมีข้อตกลง (contact farming) ที่ทำให้เกษตรกรเสียเปรียบ และเกิดปัญหาหลายอย่างตามมาได้”
สำหรับผลการศึกษาที่ได้ ทางคณะผู้วิจัยจะนำเสนอแก่จังหวัดยโสธร เพื่อใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายต่อไป นอกจากงานวิจัยโครงการนี้แล้ว สกว. ยังมีงานวิจัยอีกหลายโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนพัฒนาจังหวัดยโสธร อาทิ โครงการเกี่ยวกับการผลิตข้าวอินทรีย์ และโคพื้นเมือง โดยขณะนี้มีความเป็นไปได้ว่า นอกจากข้าวอินทรีย์แล้ว ทางจังหวัดยโสธรยังมีแนวโน้มที่จะส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงปลาในนาข้าวที่ปลูกแบบอินทรีย์ ซึ่งจะทำให้ปลาที่ได้เป็นปลาอินทรีย์ไปด้วย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-278-8298 ฉัตร์ทิพย์