ฟิทช์คงอันดับเครดิตของ บจม. ไออาร์พีซี; ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 9, 2009 15:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เป็นลบจากเดิมแนวโน้มมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกันฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวและอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบริษัทที่ระดับ ‘A-(tha)’ (A ลบ (tha)) และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F2(tha)’ การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่อ่อนแอของ IRPC ในปี 2551 ซึ่งส่งผลให้หนี้สินและอัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับที่สูงกว่าที่คาดไว้ รวมถึงกระแสเงินสดจากการดำเนินงานในอนาคตที่มีแนวโน้มที่จะลดลงจากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ แม้ว่า IRPC มีแผนจะลดค่าใช้จ่ายการลงทุนลงจำนวนมากในช่วงปี 2552 ถึง 2554 ซึ่งจะมีส่วนช่วยทำให้สามารถรักษาระดับอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่ความไม่แน่นอนของอุปสงค์ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก โดยเฉพาะสำหรับโรงกลั่นที่มีกระบวนการกลั่นที่มีความซับซ้อนต่ำซึ่งจะมีส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบและความยืดหยุ่นต่ำกว่าโรงกลั่นที่มีกระบวนการกลั่นที่มีความซับซ้อนสูง ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีกำลังเผชิญกับอุปสงค์ที่มีแนวโน้มที่หดตัวลงอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ซึ่งอาจจะบั่นทอนผลการดำเนินงานและสถานะการเงินของ IRPC รวมถึงทำให้การลดอัตราส่วนหนี้สินต้องใช้เวลานานขึ้นและทำให้ความคล่องตัวทางการเงินลดลง ในปี 2551 IRPC มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า (EBITDAR) ติดลบ 13.5 พันล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักมาจากการขาดทุนจากสินค้าคงคลังและการลดค่าลงของสินค้าคงคลังอันเนื่องมาจากการลดลงอย่างมากของราคาน้ำมันในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2551 IRPC ได้รับผลกระทบจากการขาดทุนจากสินค้าคงคลังมากกว่าบริษัทอื่นๆในอุตสาหกรรม เนื่องจากบริษัทมีสายการผลิตที่ยาวกว่า ตั้งแต่การกลั่นน้ำมันไปจนถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย (Downstream) หากไม่รวมผลการขาดทุนจากสินค้าคงคลังและการลดค่าลงของสินค้าคงคลัง บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า เป็นบวกที่ 2.8 พันล้านบาท อย่างไรก็ตามผลกำไรนี้ยังต่ำกว่าที่คาดการณ์เอาไว้มาก เนื่องจากอัตราการกลั่นที่ต่ำในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2551 รวมถึงการอ่อนตัวลงของส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบและปริมาณการขายที่ลดลงของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 ณ สิ้นปี 2551 IRPC มีหนี้สินและหนี้สินสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 26.7 พันล้านและ 18.2 พันล้านบาทตามลำดับ ในขณะที่สถานะทางเครดิตของ IRPC อ่อนแอลงอย่างมาก เนื่องจากกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียนที่ติดลบ อย่างไรก็ตามบริษัทยังมีสภาพคล่องที่ดีอยู่ โดยมีเงินสดและสินทรัพย์ที่เทียบเท่าเงินสดจำนวน 8.6 พันล้านบาทและวงเงินสำรองสำหรับบริษัทที่ยังไม่ได้เบิกใช้ (Available Committed Facilities) กับธนาคารจำนวน 3.1 พันล้าน ณ สิ้นปี 2551 ซึ่งมากกว่าหนี้สินระยะสั้นจำนวน 8.3 พันล้านบาท ที่จะครบกำหนดชำระคืนภายใน 12 เดือนข้างหน้า ส่วนหนี้สินที่เหลือได้แก่หุ้นกู้จำนวน 18.4 พันล้านบาท ซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนหลังจาก 5 ปีข้างหน้า แม้ว่าอุปสงค์และส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบมีแนวโน้มที่จะยังคงอ่อนแออยู่ในช่วงปี 2552 ถึง 2553 กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียนของ IRPC คาดว่าจะดีขึ้นในปี 2552 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากในปีนี้บริษัทไม่น่าจะมีการขาดทุนจำนวนมากจากสินค้าคงคลังอีก กำไรและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะดีขึ้นจากปีก่อน ประกอบกับค่าใช้จ่ายการลงทุนที่ลดลงอย่างมากน่าจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า (Adjusted Net Debt to EBITDAR) อยู่ที่ระดับ 3.2 เท่าถึง 4.2 เท่าในช่วงปี 2552 ถึง 2554 และลดลงเหลือประมาณ 2.5 เท่าในปี 2555 อันดับเครดิตของ IRPC มีปัจจัยสนับสนุนจากความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทเนื่องจากการผลิตที่ต่อเนื่องครบวงจรตั้งแต่การกลั่นน้ำมันไปจนถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย รวมถึงประสบการณ์และชื่อเสียงของบริษัทในธุรกิจปิโตรเคมีขั้นปลายในประเทศอันยาวนาน การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ครบวงจรดังกล่าวได้สร้างความได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิต ทำให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายชนิดและสามารถวางแผนการใช้สายการผลิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งยังช่วยลดความผันผวนของรายได้อีกด้วย นอกจากนี้ IRPC ยังได้รับประโยชน์จากการที่มี บมจ. ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยบริษัทสามารถลดต้นทุนการดำเนินงานจากการร่วมดำเนินการกับบริษัทในกลุ่ม ปตท. อย่างไรก็ตามการพึ่งพากันในการดำเนินธุรกิจและการผลิตระหว่างบริษัทกับบริษัทในกลุ่ม ปตท. ยังคงอยู่ในระดับที่จำกัด เนื่องจากการดำเนินธุรกิจและการผลิตของ IRPC ค่อนข้างจะเป็นอิสระและมีกระบวนการผลิตที่ต่อเนื่องครบวงจรอยู่แล้ว ฟิทช์กล่าวว่าภาวะถดถอยของอุตสาหกรรมที่รุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงอัตราส่วนหนี้สินในระดับที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ จะเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของบริษัท ในทางตรงกันข้ามความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งกว่าที่คาด ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินลดลงเร็วกว่าที่คาดไว้ จะช่วยทำให้แนวโน้มอันดับเครดิตของ IRPC มีเสถียรภาพมากขึ้น หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) เป็นการวัดระดับความน่าเชื่อถือในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่างองค์กรในประเทศนั้นๆ โดยจะใช้ในประเทศที่อันดับเครดิตแบบสากลของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อันดับเครดิตขององค์กรที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับองค์กรที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในตลาดในประเทศเป็นหลักและจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้ ติดต่อ: เลิศชัย กอเจริญรัตนกุล, เอกพันธ์ พรหมประพันธ์, Vincent Milton, + 662 655 4755

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ