กรุงเทพฯ--10 มี.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้อันดับเครดิตภายในประเทศ (National rating) ระยะยาวที่ระดับ ‘BBB+(tha)’ แนวโน้มเครดิตเป็นลบ แก่หุ้นกู้มีหลักประกันมูลค่า 450 ล้านบาท ซึ่งมีอายุ 2 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งออกโดยบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) หรือ PF
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ดังกล่าวสะท้อนถึงการสนับสนุนอันดับเครดิตจากการจดจำนองหลักประกันที่เป็นที่ดินปลอดจำนองและการค้ำประกันในสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินต้น (หรือไม่เกิน 225 ล้านบาท) โดยธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB (ปัจจุบัน ฟิทช์ให้อันดับเครดิตระยะยาวภายในประเทศที่ระดับ A(tha) และระยะสั้นที่ระดับ F1(tha) แนวโน้มเครดิตเป็นบวก) การคํ้าประกันบางส่วนโดย TMB นี้ได้ช่วยเพิ่มอันดับเครดิตของ PF ขึ้นสองอันดับจากอันดับเครดิตภายในประเทศประเภทหนี้มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ BBB-(tha) (BBBลบ(tha)) แนวโน้มเครดิตเป็นลบ PF นำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ครั้งนี้ไปซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการในอนาคตและเป็นเงินทุนหมุนเวียนบางส่วน
ในกรณีที่ PF ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ทั้งในส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ยจ่าย ผู้ถือหุ้นกู้สามารถเรียกร้องให้ TMB เข้ามาทำการชำระหนี้แทนเป็นเงินรวม 225 ล้านบาทแก่ผู้ถือหุ้นกู้ การค้ำประกันบางส่วนจาก TMB ช่วยลดผลขาดทุนให้แก่นักลงทุนในกรณีที่เกิดเหตุผิดนัดชำระหนี้ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรตระหนักว่าผู้ค้ำประกันไม่ได้ให้ความยินยอมที่จะสละสิทธิที่จะยกข้อต่อสู้ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการไม่มีผลบังคับใช้ การไม่มีผลทางกฎหมาย หรือความไม่สมบูรณ์ของสัญญาค้ำประกันและเอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับหุ้นกู้ ถึงแม้ว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นของเหตุการณ์ดังกล่าวมีน้อยก็ตาม นอกจากนี้ เงื่อนไขการค้ำประกันได้กำหนดให้ TMB มีสิทธิรับช่วงสิทธิในการเรียกชำระหนี้จาก PF ในกรณีที่ TMB ได้ทำการจ่ายเงินค้ำประกันแก่ผู้ถือหุ้นกู้ และหนี้ของ TMB จะมีสิทธิเทียบชั้นหนี้ไม่มีประกันหรือหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิของ PF ถึงแม้เงื่อนไขดังกล่าวอาจส่งผลให้อัตราการได้รับชำระหนี้คืนของผู้ถือหุ้นกู้ลดต่ำลง การจดจำนองลำดับสองในหลักทรัพย์ค้ำประกันของ TMB จะช่วยลดผลกระทบในส่วนของอัตราการได้รับชำระหนี้ที่ลดลงได้
ในส่วนของอันดับเครดิตของ PF เองยังค่อนข้างอ่อนแออยู่ โดยบริษัทต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากการดำเนินงานด้านต่างๆ อาทิ อัตราการเติบโตของตลาดที่อยู่อาศัยรวมที่ลดลง แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น การแข่งขันที่รุนแรงในตลาดบ้านเดี่ยวในกรุงเทพและปริมณฑล ความเสี่ยงในการบริหารสต็อกบ้านใหม่ ความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการก่อสร้างที่ล่าช้าและการเพิ่มขึ้นของราคาวัสดุก่อสร้าง นอกจากนี้ PF ยังมีความเสี่ยงในการบริหารสภาพคล่องอันเป็นผลมาจากความไม่สอดคล้องของกระแสเงินสดรับและจ่ายในแต่ละโครงการและภาระหนี้สินที่สูงของบริษัท อย่างไรก็ตามความเสี่ยงดังกล่าวได้ถูกลดทอนลงบ้างจากการที่ PF มีชื่อเสียงในตลาดบ้านเดี่ยวในประเทศไทยและมีความประสบการณ์การทำโครงการบ้านเดี่ยวขนาดใหญ่ อีกทั้งยังมีส่วนช่วยเสริมทางเครดิตจากการจดจำนองหลักประกันและการค้ำประกันบางส่วนจาก TMB
ณ สิ้นปี 2548 PF มีหนี้สินสุทธิที่ระดับ 6.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 6.4 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2547 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (Net Debt/EBITDA) ลดความแข็งแกร่งลงมาอยู่ที่ 9.3 เท่า เทียบกับอัตราส่วนดังกล่าวที่ 8.2 เท่า ณ สิ้นปี 2547 โดยทั้งนี้เป็นผลมาจากการขยายโครงการใหม่ การซื้อที่ดินเพิ่มเติมเพื่อใช้สำหรับการพัฒนาโครงการในอนาคตและการจ่ายเงินปันผล แม้ว่ารายได้จากการขายบ้านเดี่ยวในปี 2548 สูงขึ้น 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ EBITDA ของบริษัทกลับลดลง 5% มาอยู่ที่ระดับ 733 ล้านบาท อันมีผลมาจากการลดลงของส่วนต่างกำไรเนื่องจากค่าก่อสร้างและค่าใช้จ่ายด้านโฆษณาที่สูงขึ้น แม้ว่าอัตราส่วน Net Debt/EBITDA ของ PF น่าจะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่คาดว่าจะคงอยู่ในระดับสูงในปี 2549 ในขณะที่การลดการซื้อที่ดินใหม่และการขยายโครงการ รวมถึง EBITDAที่คาดว่าจะสูงขึ้น จะมีส่วนช่วยลดระดับของอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับตํ่าลงในปี 2550
แนวโน้มเครดิตเป็นลบของหุ้นกู้มีหลักประกันสะท้อนแนวโน้มเครดิตของบริษัทซึ่งสะท้อนถึงสถานะทางการเงินของบริษัทที่จะถูกกระทบอย่างมากถ้าอัตราการเติบโตของตลาดที่อยู่อาศัยรวมลดลงไปอีก ฟิทช์จะพิจารณาปัจจัยการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่ต่อเนื่องและการลดลงของอัตราส่วนหนี้สินภายในปี 2549 เพื่อปรับเปลี่ยนแนวโน้มเครดิตในทิศทางที่ดีขึ้น
ติดต่อ: วสันต์ ผลเจริญ, เลิศชัย กอเจริญรัตนกุล, Vincent Milton, + 662 655 4755
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) เป็นการวัดระดับความน่าเชื่อถือในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่างองค์กรในประเทศนั้นๆ โดยจะใช้ในประเทศที่อันดับเครดิตแบบสากลของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อันดับเครดิตขององค์กรที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับองค์กรที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในตลาดในประเทศเป็นหลักและจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน