กรุงเทพฯ--11 มี.ค.--สกว.
แอร์แว , ประตูบานหับเผย, เสื้อยืดกดจุดของหมอนวดฉบับเข้าชัยสน ,หรือแม้แต่บัญชีครัวเรือนฉบับบ้านสามขา--- ถือเป็นบางตัวอย่างของนวัตกรรมหรือข้อค้นพบอันเกิดจากงานวิจัยชาวบ้าน หรือ “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” ซึ่ง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ให้การสนับสนุนงบประมาณการทำวิจัยแก่ชุมชนท้องถิ่นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เป็นต้นมา
ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า ในระหว่างวันที่ 20-21 มีนาคม 2552 นี้ ฝ่ายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นของ สกว.จะจัดงาน “มหกรรม 10 ปี งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น — คุณค่า พลัง ความสุข” โดยจัดขึ้น ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี ซึ่งเป็นการเสนอผลงานและความก้าวหน้าของการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่คนในท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการและใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยนั้นโดยตรง จากโจทย์วิจัยที่มาจากปัญหาหรือความต้องการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเอง และกว่า 10 ปีของการดำเนินงานที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดผลงานวิจัยหลายด้าน รวมทั้งผลงานที่เป็นนวัตกรรมจากงานวิจัย ดังตัวอย่างกว่า 10 นวัตกรรมฝีมือนักวิจัยชาวบ้านจาก 10 ชุมชนที่คัดเลือกมานำเสนอในงานดังกล่าว ตัวอย่างเช่น
นวัตกรรม “บัญชีครัวเรือน” เพื่อการจัดการปัญหาหนี้สินของชุมชนชาวบ้านสามขา จ.ลำปาง ที่กลายมาเป็นต้นตำรับให้กับอีกหลาย ๆ ชุมชน จุดเริ่มต้นมาจากที่ชาวบ้านสามขาไม่รู้มาก่อนว่าตัวเองมีหนี้สินมากถึง 18 ล้าน จนกระทั่งชาวบ้านมาร่วมกันเก็บข้อมูลด้วยการสำรวจหนี้สิน
เมื่อรู้ว่ามีหนี้ ชาวบ้านจึงร่วมกันคิดต่อว่า รายรับ รายจ่ายสมดุลกันหรือไม่ จึงเป็นที่มาของการทำ “บัญชีครัวเรือน”เพื่อสำรวจข้อมูลรายรับ รายจ่าย ...แต่บัญชีครัวเรือนที่บ้านสามขาไม่ใช่แค่การจดบันทึกว่าในแต่ละวันมีรายรับเท่าไหร่ และมีรายจ่ายเท่าไหร่ หากยังมีการวิเคราะห์กันต่อในกรณีรายจ่ายที่ “ล้นเกิน” เป็นรายจ่ายที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันว่าจะหาแนวทาง หรือจัดการอย่างไร เป็นต้น
เพราะฉะนั้น “บัญชีครัวเรือน” ของบ้านสามขา เป็นเครื่องมือ เป็น “นวัตกรรม” ของชาวบ้านที่ได้พยายามคิดค้น หรือนำเครื่องมือในพื้นที่อื่น ๆ มาปรับใช่เพื่อให้เหมาะสมกับชุมชนของตนเอง
สำหรับที่ “บ้านผาชัน” จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นชุมชนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ติดแม่น้ำโขง หากปัญหาที่ชุมชนได้รับก็คือไม่มีน้ำใช้เมื่อถึงเวลาหน้าแล้ง ชาวบ้านภายใต้การนำของครูในโรงเรียนประจำตำบลได้ใช้กระบวนการวิจัยค้นหาแนวทางการจัดการน้ำของชุมชน กระทั่งพบ “แอร์แว” นวัตกรรมสูบน้ำที่สามารถช่วยให้ชุมชนได้มีน้ำใช้ได้ตลอดปี
อีกตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ “ประตูหับเผย” ที่ ตำบลแพรกหนามแดง จ.สมุทรสงคราม , รูปแบบการเปิดปิดประตูระบายน้ำของกรมชลประทาน ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านทั้งสองฝั่ง ชาวบ้านจึงหาทางออกด้วยการย้อนกลับไปศึกษารูปแบบการจัดการน้ำของคนรุ่นเก่าจนพบว่าประตูหับเผย ซึ่งสามารถปิด และเปิดเองโดยอาศัยหลักการไหลของน้ำ จึงนำมาพัฒนารูปแบบต่อ กระทั่งกลายมาเป็นรูปแบบประตูระบายน้ำที่สามารถแก้ไขความขัดแย้งท่ายืดเยื้อยาวนานของชุมชนได้ในที่สุด
จะเห็นว่าตัวอย่างดังกล่าวล้วนเกี่ยวข้องกับชีวิตและการแก้ไขปัญหาของชุมชนเอง เป็นนวัตกรรมที่เกิดจากการทำงานวิจัยของนักวิจัยชาวบ้านและมาจากฐานภูมิปัญญาของท้องถิ่น สอดคล้องกับเป้าหมายการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นของ สกว. เป็นมิติใหม่ของการทำงานวิจัยที่ชาวบ้านไม่ได้เป็นเพียงผู้ให้ข้อมูลและไม่รู้ว่าผลของงานวิจัยนั้นชุมชนจะใช้ประโยชน์ได้อย่างไร
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ริเริ่มแนวคิด “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นได้แสดงศักยภาพและความสามารถในการรวบรวมและบันทึกข้อมูล นำข้อมูลที่เก็บได้มาวิเคราะห์ วางแผนกิจกรรมเพื่อการแก้ไขปัญหาที่ตัวเองเผชิญ ตามหลักคิดที่ว่าปัญหาเป็นของชุมชน ชุมชนต้องเป็นฝ่ายมาร่วมกันคิด ร่วมกันวางแผน และรวมกันทำกิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชนเอง
ผลที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยหลาย ๆ เรื่องที่ชุมชนร่วมกันค้นหาปัญหา ร่วมกันคิด และวางแผนนั้นสามารถตอบสนองความต้องการของชุมชนได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดการปัญหาหนี้สิน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาด้านการประกอบอาชีพ เป็นต้น.