กรุงเทพฯ--11 มี.ค.--คต.
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต. เปิดเผยว่า ในปี 2551 การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ มีมูลค่ากว่า 31,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยได้เปรียบดุลการค้ามีมูลค่ากว่า 8,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งในการส่งออกไทยใช้สิทธิ GSP มีมูลค่า 3,533.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62 ของมูลค่าส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP
สินค้าที่ไทยใช้สิทธิ GSP สูง 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องรูปพรรณอื่น ๆ ทำด้วยโลหะเงิน ยางเรเดียล รถบรรทุก ยางเรเดียลรถยนต์นั่ง อาหารปรุงแต่ง และชุดสายไฟชนิดที่ใช้กับยานยนต์ นอกจากนี้ ยังมีสินค้าที่ไทยใช้สิทธิ GSP น้อย สินค้าอีกหลายรายการที่สหรัฐฯ ให้สิทธิ GSP แต่ผู้ส่งออกไทยยังไม่มีการขอใช้สิทธิ หรือใช้สิทธิเพียงเล็กน้อย เช่น กระจกแผ่น รถจักรยานยนต์กระบอกสูบเกิน 800 ลบ.ซม. หูฟังโทรศัพท์ อุปกรณ์สำหรับควบคุมอัตโนมัติ กล้องถ่ายโทรทัศน์ และไม้ตีกอล์ฟ เป็นต้น นับเป็นการเสียโอกาสของผู้ส่งออกไทยในการเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ
จากสถิติไทยนำเข้าสหรัฐฯ ปี 2551 ปรากฎว่ามีสินค้าที่ไทยนำเข้าสหรัฐฯ เกิน CNL ที่สหรัฐฯ กำหนด ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศจะได้ยื่นคำร้องขอผ่อนผันไม่ให้ระงับสิทธิ GSP กรณี De Minimis Waiver จำนวน 5 รายการ คือ ดอกกล้วยไม้สด ทุเรียนสด มะละกอตากแห้ง มะขามตากแห้ง มะละกอแปรรูป โดยเท่าที่ผ่านมาการขอผ่อนผันกรณีนี้ สหรัฐฯ จะผ่อนผันไม่ระงับสิทธิ GSP ให้เป็นประจำทุกปี และขอคืนสิทธิ GSP กรณี Redesignation จำนวน 5 รายการ คือ กระเบื้องปูพื้นและผนัง แผ่นฟิล์มทำจากโพลิเมทิล แป้งธัญพืช ลิ้นจี่ ลำไยกระป๋อง และเม็ดพลาสติก ในทันทีที่สหรัฐฯ เปิดโอกาสให้ดำเนินการได้ ซึ่งคาดว่า USTR จะออกประกาศประมาณเดือนมีนาคม 2552
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่าจากสถานการณ์ปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าผู้ส่งออกไทยต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลต่อการส่งออกโดยรวมของประเทศ ผู้ส่งออกไทยจึงควรใช้ประโยชน์จากสิทธิ GSP ที่ยังคงได้รับอยู่ให้มากที่สุด เนื่องจากปรากฏว่ามีสินค้าหลายรายการที่ไทยยังไม่ขอใช้สิทธิ หรือใช้สิทธิเพียงเล็กน้อย ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามพัฒนาขีดความสามารถในการผลิต โดยผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูง และลดต้นทุนให้ต่ำที่สุด รวมทั้งมีการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับการส่งออก และพยายามหาตลาดใหม่เพื่อขยายฐานการส่งออก เพื่อเตรียมพร้อมที่จะปรับตัวให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยลดการพึ่งพา GSP ซึ่งนับวันจะลดน้อยลง
ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 1385 สายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ หรือที่ www.dft.go.th หรือ โทร. 0 2547 4872 โทรสาร 0 2547 4816