“สถาบันอาหาร” จี้ผู้ประกอบการไทยตื่นตัว เจาะตลาด BRIC กลุ่มเศรษฐกิจมหาอำนาจของโลกในอนาคต

ข่าวทั่วไป Wednesday March 11, 2009 16:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 มี.ค.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ BRIC เนื้อหอม หลังถูกจัดอันดับให้เป็นตลาดเกิดใหม่ ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง เป็นตลาดการค้าสินค้าอาหารในโลกอนาคต “สถาบันอาหาร” แนะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทยรุกเจาะตลาดกลุ่ม BRIC ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน รองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโลก ชูสินค้าคุณภาพภายใต้ระบบ Food Safety สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้า นำเสนอสินค้า นวัตกรรมใหม่ๆ สู่ตลาด หวังผลระยะยาวขยายตลาดสินค้าอาหารของไทยในกลุ่มประเทศ BRIC อย่างยั่งยืน ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ขณะนี้ BRIC ถูกจัดอันดับให้เป็นตลาดเกิดใหม่ (Global Emerging Market) ที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง และคาดว่าจะกลายเป็นมหาอำนาจของโลกในอนาคต BRIC ประกอบด้วย 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ซึ่งล้วนแล้วเป็นประเทศที่มีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงไม่แพ้กัน ในอีก 5 ปีข้างหน้า มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในตลาดนี้จะขยายตัวเฉลี่ย ร้อยละ 6.38 ในขณะที่จำนวนประชากรเมื่อรวมกันแล้วมีมากถึง 2,762.9 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 41 ของจำนวนประชากรโลก ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวของประชากรในกลุ่มประเทศนี้ในช่วงที่ผ่านมาเติบโตอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยในปี 2550 เฉลี่ยอยู่ที่ 4,862.75 เหรียญสหรัฐฯ/คน/ปี หรือประมาณ 168,056.6 บาท/คน/ปี ซึ่งจะทำให้ประชากรกลุ่มนี้ก้าวเข้าสู่กลุ่มชนชั้นกลางมากยิ่งขึ้น ทำให้การบริโภคสินค้าและบริการมีความหลากหลาย และอาจจะกลายเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่กำหนดราคาสินค้าและบริการได้ในอนาคต สำหรับศักยภาพด้านอาหารของ BRIC เป็นได้ทั้งผู้ผลิต ผู้ส่งออก และผู้บริโภค เมื่อพิจารณาจากมูลค่าการค้าสินค้าอาหารของ BRIC พบว่า มีมูลค่าการค้ารวม 162,638.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 10 ของมูลค่าการค้าสินค้าอาหารของโลก โดยสัดส่วนของมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 58 ของมูลค่าการค้ารวม และนำเข้า ร้อยละ 42 ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา พบว่าการนำเข้าอาหารของกลุ่มประเทศนี้เติบโตทุกตลาดเฉลี่ยกว่าร้อยละ 23 เติบโตสูงกว่ากลุ่มเศรษฐกิจ ชั้นนำอย่างเช่น สหภาพยุโรป ที่การนำเข้าอาหารเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 15 ส่วนการส่งออกอาหารของ BRIC เติบโตในอัตราที่น้อยกว่านำเข้าเฉลี่ยร้อยละ 19 แต่นับว่ายังสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่เป็นผู้นำการส่งออกสินค้าอาหารของโลก เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และไทย ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ชี้ เพื่อเป็นการรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโลกใหม่ที่คาดว่ากลุ่ม BRIC จะเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่สำคัญ ผู้ประกอบการไทยควรต้องตื่นตัวมากยิ่งขึ้น และต้องมีนโยบายเชิงรุกในการบุกตลาดการค้าการลงทุนสินค้าอาหารในแต่ละประเทศ โดยใช้โอกาสภายใต้ศักยภาพของแต่ละประเทศ บราซิล เป็นประเทศฐานการผลิตสินค้าเกษตร-อาหาร เพื่อส่งต่อไปยังประเทศในละตินอเมริกาและสหภาพยุโรป ขณะเดียวกันยังสามารถผลิตและส่งออกได้เช่นเดียวกันกับไทย เช่น ไก่ น้ำตาล กาแฟ สับปะรด และเครื่องเทศ ฉะนั้นบราซิลจึงจัดเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทยในลำดับต้นๆ ขณะที่ รัสเซีย เป็นตลาดรองรับสินค้าอาหารแปรรูปมูลค่าเพิ่มของไทย และเป็นประตูการค้าไปสู่กลุ่มประเทศ CIS และยุโรปตะวันออก โดยรัสเซียเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่ร้อนแรงรองจากจีน เนื่องจากเป็นช่วงการพัฒนาประเทศ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยร้อยละ 7-8 มีทรัพยากรพลังงานและทรัพยากรอื่นๆ มากกว่าสินค้าเกษตร ทำให้อุตสาหกรรมอาหารไม่ใช่อุตสาหกรรมหลักของประเทศ จึงต้องพึ่งพิงการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารมากกว่าการผลิตเพื่อบริโภคเอง แนวโน้มการนำเข้าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เติบโตในอัตราสูงถึงร้อยละ 22 แหล่งนำเข้าอาหารที่สำคัญของรัสเซีย คือ สหภาพยุโรป ร้อยละ 34 รองลงมา คือ บราซิล ร้อยละ 14 ยูเครน ร้อยละ 6 สหรัฐอเมริการ้อยละ 5 และจีน ร้อยละ 4 ส่วนการนำเข้าจากไทยมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.72 เท่านั้น สำหรับ อินเดีย เป็นตลาดรองรับสินค้าเกษตร-อาหารขั้นพื้นฐานที่สำคัญของไทย ในอนาคตที่จะมีจำนวนผู้บริโภคมากที่สุด ซึ่งคาดว่าในปี ค.ศ. 2050 หรืออีก 40 ปีข้างหน้าอินเดียจะมีจำนวนประชากรมากที่สุดในโลก ประมาณ 1,628 ล้านคน และคาดว่าในปี 2563 ขนาดเศรษฐกิจของอินเดียจะใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรองจาก จีน และสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคและรูปแบบการดำเนินชีวิต ดังนั้นประเด็นที่อินเดียจะต้องคำนึงถึงมากที่สุดคือความมั่นคงทางด้านอาหาร โดยเฉพาะน้ำมันปาล์มและสินค้าในกลุ่มไขมัน/น้ำมัน ที่มีสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 44 ของการนำเข้าอาหารทั้งหมด รองลงมาคือ ผักผลไม้สดและผลิตภัณฑ์แปรรูป ร้อยละ 36 โดยมีแนวโน้มการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 20 และคาดว่าในอนาคต อินเดียจะลดการส่งออกสินค้าอาหาร และเพิ่มการนำเข้าตามการเติบโตของประชากร และเศรษฐกิจอย่างแน่นอน สำหรับ จีน นั้นเป็นฐานการผลิตอาหารและเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดของไทย โดยนักธุรกิจทั่วโลกให้ความสำคัญและเห็นว่าจีนเป็นตลาดใหม่ที่น่าจับตามองมากที่สุดในขณะนี้ เนื่องจากมีปัจจัยครบถ้วนในการที่จะขับเคลื่อนภาคการผลิต การลงทุน และการบริโภค นักลงทุนต่างชาติในหลายประเทศได้ย้ายฐานเข้าไปในจีนเพื่อต้องการป้อนตลาดในประเทศที่มีจำนวนผู้บริโภครองรับเป็นจำนวนมาก และคาดว่ายอดการใช้จ่ายด้านอาหารของผู้บริโภคจีนในช่วงปี 2550-2554 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 ทั้งนี้ในอนาคตจีนมีโอกาสที่จะชะลอการส่งออกสินค้าอาหาร และจะกลายเป็นผู้นำเข้าแทน “กลยุทธ์สำคัญที่จะทำให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยสามารถเข้าไปเจาะตลาดในกลุ่มประเทศ BRIC และแข่งขันได้ในระยะยาว คือ การชูจุดเด่นที่สำคัญในด้านการผลิตสินค้าอาหารที่มีคุณภาพมากเป็นพิเศษ ภายใต้ระบบ Food Safety ซึ่งเป็นที่ยอมรับของสากล พร้อมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และพร้อมที่จะเป็นผู้นำในการนำเสนอสินค้าและนวัตกรรมออกสู่กลุ่มตลาดเหล่านี้ให้มากกว่าการเป็นผู้ตาม อย่างไรก็ตาม การดำเนินกลยุทธ์ในการบุกตลาดต่างประเทศจะส่งผลมากน้อยเพียงใด สิ่งสำคัญคงต้องขึ้นอยู่กับความจริงจังในการร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและเอกชน และการดำเนินงานที่ทันท่วงที และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จึงจะส่งผลให้การขยายตลาดสินค้าอาหารของไทยไปยังกลุ่มประเทศ BRIC มีความยั่งยืนและก้าวไปสู่ความเป็นผู้นำในอนาคตได้”ดร.ยุทธศักดิ์ กล่าว รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ : บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด สุขกมล งามสม โทรศัพท์ 0 2158 9416-8/ 0 9484 9894

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ