ภาวะเศรษฐกิจโลกพ่นพิษ อุตฯ อาหารไทยลดเป้าส่งออก คาดปี 52 มูลค่า 6.6 แสนล้านบาท ลดลงร้อยละ 15 ชี้อาหารสำเร็จรูปยังโตสวนกระแส

ข่าวทั่วไป Wednesday March 11, 2009 16:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 มี.ค.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ 3 องค์กรเศรษฐกิจชี้ปี 2552 ภาพรวมส่งออกสินค้าอาหารไทยเผชิญวิกฤตหนักหลังความต้องการสินค้าทั้งภายในประเทศ และตลาดโลกปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ คาดภาพรวมแนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารปี 2552 มีมูลค่าประมาณ 661,000 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 15 จากปี 2551 กลุ่มสินค้าเกษตรพื้นฐานได้รับผลกระทบหนัก ตัวเลขหดตัวทั้งตลาดหลัก และตลาดใหม่ ยกเว้นญี่ปุ่น สวนกระแสส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.8 เฉพาะแนวโน้มไตรมาสแรกปีนี้ การส่งออกมีมูลค่าเพียง 153,500 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11.6 โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรวัตถุดิบ อาหารแปรรูปขั้นต้น เครื่องดื่ม และอาหารสัตว์ มีเพียงกลุ่มอาหารสำเร็จรูปที่ขยายตัว มั่นใจกระบวนการผลิตของไทยมีมาตรฐาน สินค้ามีคุณภาพ ราคาไม่แพง และจำเป็นต่อการบริโภค สอดรับกับความต้องการของตลาดโลกที่กำลังซื้อหด การแถลงข่าวร่วม 3 องค์กร โดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมอาหารแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร ถึงสถานการณ์ธุรกิจเกษตรและอาหารในปัจจุบัน และแนวโน้มการส่งออกปี 2552 มีตัวแทนหลักของทั้ง 3 องค์กร ประกอบด้วย นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ร่วมให้รายละเอียดและรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ในการประสานความร่วมมือของ 3 องค์กร ในส่วนของสถาบันอาหารจะทำหน้าที่เป็นองค์กรในการรวบรวมข้อมูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องภายใต้การดำเนินงานของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หรือ Food Intelligence Center เพื่อเผยแพร่ข้อมูลภาวะอุตสาหกรรมธุรกิจเกษตรและอาหารทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหารเดือนมกราคม 2552 หดตัวลงร้อยละ 16.6 มีอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยร้อยละ 50.2 ลดลงร้อยละ 12.5 จากอัตราการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 57.4 ในเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากความต้องการสินค้าทั้งภายในประเทศ และตลาดโลกที่ปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่การส่งออกอาหารไทยในเดือนมกราคม 2552 มีปริมาณ 1.7 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 37.6 มูลค่าส่งออก 49,735 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13.1 เมื่อเทียบกับมกราคม 2551 โดยหดตัวลงแทบทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดหลัก อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และอาเซียน (ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าในตลาดใหม่แถบอินโดจีน ได้แก่ ลาว กัมพูชา พม่า และเวียดนาม) มูลค่าส่งออกในเดือนมกราคมลดลงร้อยละ 4.5, 19.9 และ 41.5 ตามลำดับ ยกเว้นญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดหลักเพียงแห่งเดียวเท่านั้นที่การส่งออก ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.8 ส่วนการส่งออกไปยังตลาดใหม่ก็ปรับตัวลดลงด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะตลาดจีนที่การส่งออกหดตัวลงร้อยละ 49.9 แอฟริกาลดลงร้อยละ 30.5 ตะวันออกกลางลดลงร้อยละ 3.7 และลาตินอเมริกาลดลงร้อยละ 37.5 เป็นต้น ในขณะที่การนำเข้าเดือนมกราคม มีมูลค่า 15,075 ล้านบาท ลดลง 26.7% เมื่อเทียบกับมกราคม 2551 แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารไทยในไตรมาสแรกปี 2552 คาดหดตัวลงทั้งภาคการผลิตและการส่งออก และจะเป็นเพียงการส่งสัญญาณเบื้องต้นก่อนที่จะมีการหดตัวลงรุนแรงในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของปีนี้ โดยภาพรวมการส่งออกอาหารของไทยในไตรมาสแรกของปีนี้ มีมูลค่าเพียง 153,500 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 11.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีเพียงกลุ่มอาหารสำเร็จรูปที่ขยายตัวในแดนบวก ขณะที่สินค้าอาหารในกลุ่มอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มเกษตรวัตถุดิบ อาหารแปรรูปขั้นต้น เครื่องดื่ม รวมทั้งอาหารสัตว์ คาดว่าการส่งออกจะหดตัวลงทั้งหมด สำหรับในไตรมาส 2 และ 3 คาดว่าการส่งออกจะลดลงมากกว่าร้อยละ 20 ก่อนที่จะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในช่วงไตรมาส 4 แต่ยังคงมีโอกาสหดตัวลงร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ภาคการผลิตมีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามการส่งออก แต่อัตราการหดตัวจะน้อยกว่าการส่งออกเนื่องจากยังมีอุตสาหกรรมอาหารบางกลุ่มที่มีตลาดภายในประเทศ มีแนวโน้มขยายตัวได้หากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสัมฤทธิ์ผล โดยเฉพาะในช่วงภายหลังจากที่เม็ดเงินโครงการต่างๆ ภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเริ่มไหลเวียนเข้าสู่ระบบ สำหรับภาพรวมการส่งออกสินค้าอาหารตลอดปี 2552 คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 661,000 ล้านบาท ลดลง ร้อยละ 15.0 จากปี 2551 แต่เมื่อเทียบกับปี 2550 พบว่าขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.0 ซึ่งเป็นฐานการส่งออกปกติก่อนเกิดวิกฤตการณ์อาหารในปี 2551 อย่างไรก็ตามสำหรับกลุ่มสินค้าเกษตรพื้นฐานจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งผลกระทบทางด้านความต้องการสินค้าและราคาที่ปรับตัวลดลง ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มสินค้าเกษตรพื้นฐาน เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นต่อการบริโภค มีคุณภาพ และราคาไม่แพง เพราะต้นทุนการผลิตปรับตัวลดลง ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการส่งออกอาหารกลุ่มนี้ อาทิ ปลากระป๋องและแปรรูป ผักและผลไม้กระป๋อง เครื่องปรุงรส นมหวานจากน้ำตาล อาหารแปรรูปจากธัญพืช เช่น พาสต้า ก๋วยเตี๋ยวพร้อมปรุง ขนมปังกรอบ เป็นต้น จากแนวโน้มดังกล่าว ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน โดยเฉพาะผู้ผลิตในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอาหารของไทย ต้องร่วมมือกันทำตลาดในประเทศให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการใช้จ่าย ของประชาชนภายในประเทศให้มากที่สุด เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวโดยเร็ว ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ : บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด สุขกมล งามสม โทร. 089 484 9894, 02 158 9416-8

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ