กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--นิโอ ทาร์เก็ต
นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในโอกาสเยือนกรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2552 ว่า ในการพบหารือกับผู้แทนสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ หรือฟาร์มา (PhRMA) นำโดยนาย Brian Toohey รองประธานอาวุโสของ PhRMA และผู้แทนองค์กรอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (BIO) นำโดยนาย Sean Darragh รองประธานอาวุโสของ BIO ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ที่เสนอให้ USTR ปรับอันดับไทยจาก PWL เป็น PFC โดยอ้างเหตุผลเรื่องการใช้ CL ของไทย และยาปลอม ตนได้ทำความเข้าใจกับทั้งสองสมาคมว่า รัฐบาลไทยจะยึดถือพันธกรณีที่มีกับความตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก โดยหากจำเป็นต้องใช้ CL ก็จะดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐานสากล อย่างไรก็ดี ไทยเชื่อว่า มีหลายวิธีที่จะช่วยแก้ปัญหาการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชน เช่น การร่วมกันซื้อยาในปริมาณมากจะทำให้ได้ยาราคาถูก การจัดให้มีเวทีปรึกษาหารือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ป่วย และการร่วมทำการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น โดย CL อาจเป็นทางออกสุดท้าย
นอกจากนี้ ได้แจ้งให้อุตสาหกรรมยาของสหรัฐฯ ทราบว่า รัฐบาลไทยได้กำหนดให้เรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นนโยบายระดับชาติ โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการนโยบายด้านการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นรองประธาน ซึ่งจะดำเนินการแก้ไขปัญหายาปลอมที่ไม่ได้มาตรฐานอย่างใกล้ชิดโดยตนจะนำเรื่องนี้หารือกับกระทรวงสาธารณสุข เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยชีวิตและสุขภาพของประชาชน และเป็นประเด็นที่คณะกรรมการฯ มีข้อกังวลและให้ความสำคัญเช่นกัน ซึ่งทั้ง PhRMA และ BIO ก็มีท่าทีในเชิงบวกต่อนโยบายและความจริงจังในการดำเนินการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของรัฐบาลไทย
นายอลงกรณ์ฯ ได้ขอให้ PhRMA และ BIO แจ้งท่าทีใหม่นี้ให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ(USTR) ทราบด้วย เพราะจะมีผลต่อการที่ USTR จะประเมินจัดสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทย อย่างน้อยจะไม่ทำให้ USTR จัดอันดับไทยแย่ลง ถ้าไม่คงสถานะไทยเป็น PWL (Priority Watch List) ในปีนี้ ก็ควรจะจัดไทยไว้ในสถานที่ดีขึ้นเป็น WL (Watch List)
ผู้แทน BIO ยังได้เชิญนายอลงกรณ์ ให้นำทีมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย เช่น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น
เข้าร่วมงานสัมมนาใหญ่ด้านไบโอเทค ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 18-21 พฤษภาคม 2552 ที่เมืองแอตแลนตา สหรัฐอเมริกา โดยในงานนี้จะมีการสัมมนาแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องที่น่าจะเป็นประโยชน์แก่ด้านอุตสาหกรรมด้านไบโอเทคโนโลยี และการพัฒนาวิทยาศาสตร์ของไทย ในการหาความร่วมมือเพื่อทำการวิจัยและนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ในหลายสาขา เช่น อาหาร สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ นายอลงกรณ์ฯ ได้พบกับผู้แทนบริษัทลีวายส์ ซึ่งได้แจ้งข้อกังวล 2 ประเด็น คือ เรื่องที่ไทยมีการละเมิดเครื่องหมายการค้า โดยเฉพาะกางเกงยีนส์ และเสื้อผ้าของลีวายส์ และเรื่องการที่ไทยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะเหมือนคล้ายเครื่องหมายของลีวายส์ ซึ่งนายอลงกรณ์ฯ ได้รับปากว่าจะเข้าไปดูแลปัญหานี้อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ บริษัทลีวายส์ไม่ได้เสนอให้ USTR จัดสถานะไทย
ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ฯ ได้เชิญชวนให้ PhRMA BIO และบริษัทลีวายส์ มาร่วมลงทุนกับไทยในโครงการไทยแลนด์โมเดล (Thailand Model) เพื่อผลิต ออกแบบ ทำการตลาดและสร้างแบรนด์ร่วมกับไทย ซึ่งสามารถติดต่อได้ที่กระทรวงพาณิชย์
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-631-2290 บริษัท นิโอ ทาร์เก็ต จำกัด