กรุงเทพฯ--12 เม.ย.--ก.พลังงาน
ก. พลังงานลงนามร่วมทุนวิจัยโครงการต้นแบบการประยุกต์ใช้งาน วาเนเดี่ยมแบตเตอรี่ เพื่อลดภาระกำลังไฟฟ้าสูงสุด และงานวิจัยพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงคาร์โบไฮเดรต เผย พพ. เตรียมดึง MTEC และนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาเป็นคณะทำงานกำกับดูแลและร่วมศึกษาวิจัยเพื่อผลักดันโครงการให้พัฒนาสู่เชิงพาณิชย์
นางสิริพร ไศละศูล อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน ได้ลงนามร่วมทุนวิจัยเทคโนโลยีแบตเตอรี่ Vanadiun Redox Flow ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการเก็บสำรองพลังงานไฟฟ้าด้วยเซลล์ไฟฟ้าเคมี กับบริษัทเซลเลนเนียม ( ประเทศไทย) จำกัด ด้วยวงเงินประมาณ 200 ล้านบาท ภายใต้ “โครงการ ต้นแบบประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี Vanadium Redox Flow
สำหรับการลดภาระกำลังไฟฟ้าสูงสุดและการผลิตไฟฟ้าผสมผสานขนาดเล็กสำหรับรถประจำทางไฟฟ้าและเซลล์เชื้อเพลิงคาร์โบไฮเดรท” โดยมีระยะเวลาการดำเนินงานวิจัยตลอดสัญญา 1 ปี 2 เดือน ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2549 เป็นต้นไป และจะมีการรายงานประเมินผลการดำเนินโครงการฯภายในระยะเวลา 6 เดือนนับจากนี้
โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็นโครงการย่อย ได้ดังนี้
1. งานวิจัยพัฒนาการการสร้างแบตเตอรี่ขนาด 1-3 kw 3-10 kw 30 kw และ 100 kw และสร้างระบบลดกำลังไฟฟ้าสูงสุดขนาด100 kw ที่จัดเก็บไฟฟ้า
ที่จัดเก็บและจ่ายไฟฟ้าจากระบบสายส่งได้ 100 kw — 1 ชม.
2. งานวิจัยพัฒนาและสร้าง เซลเชื้อเพลิงคาร์โบไฮเดรทที่ทำงานร่วมกับวาเนเดี่ยมอิเลคโตรไลท์ที่เปลี่ยนน้ำตาลสำเร็จรูปเป็นไฟฟ้าโดยตรงโดยประสิทธิภาพที่
40%
3. งานวิจัยพัฒนาแบตเตอรี่ขนาด 10 kw รับไฟฟ้าเข้าแบตเตอรี่ที่มีความถี่แตกต่างกันได้ และนำระบบดังกล่าวไปติดตั้งเพื่อทดสอบใช้กับงานเครื่องยนต์ดีเซลผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก
4. งานวิจัยพัฒนาแบตเตอรี่ขนาด 30 kw เพื่อทดสอบใช้งานกับรถไฟฟ้าผสมผสานที่พัฒนาไว้เดิมแล้ว โดยกรมควบคุมมลพิษ เพื่อใช้ทดลองวิ่งในเขตกทม. ซึ่งคาดว่าสามารถวิ่งได้ที่ความเร็วสูงถึง 100 กม./ชม.
ทั้งนี้ พพ. จะตั้งคณะทำงานขึ้นมากำกับดูแลควบคู่กับการส่งเจ้าหน้ารัฐที่เข้าไปร่วมศึกษาวิจัย ซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ(MTEC) และผู้ชำนาญการจากสถาบันการศึกษาในประเทศไทยที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจะเชิญอาจารย์จากมหาวิทยาลัยจากทั่วประเทศ เข้ามาร่วมทำหน้าที่ติดตาม
ตรวจสอบและประเมินผลการวิจัย และเพื่อประโยชน์ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้สู่สถาบันการศึกษาก่อนที่จะมีการพัฒนาไปในเชิงพาณิชย์เพื่อให้ทำงานได้จริง
สำหรับ โครงการต้นแบบประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี Vanadium Redox Flow เพื่อการลดภาระกำลังไฟฟ้าสูงสุดนั้น เกิดขึ้นจากนโยบายส่งเสริมการประหยัดพลังงานและส่งเสริมด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนใหม่ๆ เพื่อทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อปลายปีที่ผ่านมาคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานได้มีมติเห็นชอบในหลักการว่าให้สนับสนุนโครงการดังกล่าว