มุมมองธุรกิจ SMEs ครึ่งแรกปี 2549

ข่าวทั่วไป Monday January 30, 2006 10:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--ธนาคารกรุงเทพ
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้เริ่มโครงการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ เพื่อวิเคราะห์ภาวะและขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ไทย ในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 โดยรวม และมีแผนจะทำการสำรวจในลักษณะเดียวกันนี้ ทุกๆ หกเดือน ในการสำรวจครั้งแรกนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นว่าแรงกดดันจากการแข่งขันเพิ่มขึ้นในทุกตลาดและทุกภาคธุรกิจ โดยร้อยละ 54.5 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่า การแข่งขันในตลาดภายในประเทศรุนแรงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา และผู้ตอบแบบสอบถามกว่าร้อยละ 65.2 เห็นว่า การแข่งขันมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในตลาดต่างประเทศ
จากการสำรวจ พบว่า ร้อยละ 66.2 ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่า ธุรกิจที่ประสบปัญหาการแข่งขันมากที่สุด คือ ผู้ประกอบการที่พึ่งพาตลาดภายในประเทศเพียงอย่างเดียว เนื่องจากมีผู้คู่แข่งใหม่เพิ่มขึ้นทั้งจากในและต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ซึ่งเข้ามาเจาะตลาดในประเทศในแต่ละเซ็กเมนท์โดยตรงมากขึ้น ส่งผลให้กำไรของธุรกิจลดลง แต่ธุรกิจที่มีการส่งออก ซึ่งมีการร่วมทุนกับต่างชาติยังคงขยายตัวได้ดี เนื่องจากมีช่องทางในการขยายตลาดกว้างขึ้น และมีปัญหาด้านเงินลงทุนค่อนข้างน้อย ทั้งนี้ ตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ เอเชีย (ได้แก่ ญี่ปุ่น) รองมา คือ อเมริกา และยุโรป (ได้แก่ อังกฤษ และเยอรมนี) ตามลำดับ และมีการแข่งขันที่รุนแรงมากในตลาดหลักโดยเฉพาะตลาดเอเซีย โดยมีจีนเป็นคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญที่สุด
จากสภาพตลาดโดยทั่วไป พบว่า ผู้ผลิตที่มีการผลิตสินค้าไม่มากชนิดเกินไป ระหว่าง 2-3 ชนิด จะยังคงแข่งขันในตลาดได้ดี เนื่องจากสามารถบริหารจัดการและดูแลได้อย่างทั่วถึง และผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าในตลาดทั่วไป (Mass Market) จะมีการแข่งขันสูงมาก ขณะที่ตลาดระดับบนและกลางยังมีโอกาสในการขยายตลาดได้ค่อนข้างดี เนื่องจากเป็นตลาดที่มีคู่แข่งไม่มากนัก และสินค้ามีความแตกต่างกันสูงทั้งในด้านคุณภาพและรูปแบบผลิตภัณฑ์ จึงมีโอกาสในการสร้างช่องทางการตลาดใหม่ๆ และขยายขอบเขตของตลาดได้
ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันเป็นอย่างมากในช่วงนี้ คือ ต้นทุน โดยผู้ประกอบการกว่าร้อยละ 67.4 ตอบว่า ต้นทุนต่อหน่วยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในทุกขนาดธุรกิจ โดยเพิ่มขึ้นมากในธุรกิจขนาดเล็ก ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เพิ่มความระมัดระวัง และความรอบคอบในการลงทุนมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม มีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งที่มีโอกาสทางการตลาดที่ดีขึ้น สามารถเพิ่มยอดขายได้แม้การแข่งขันจะรุนแรงขึ้นก็ตาม โดยผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ มีแนวทางปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันอย่างต่อเนื่องในหลากหลายวิธีตามสภาพธุรกิจ โดยร้อยละ 47 ใช้วิธีไม่เพิ่มการจ้างงาน และร้อยละ 11 ของจำนวนนี้มีการลดการจ้างงานลง เพื่อควบคุมต้นทุน และมีบางส่วนมีการลงทุนด้านเครื่องจักรและเครื่องมือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
โดยสรุป ภาคธุรกิจอยู่ในช่วงจุดเปลี่ยนผ่านของการแข่งขันที่จะเป็นไปอย่างเสรีมากขึ้น ทำให้มีคู่แข่งที่แข็งแกร่งขึ้นและจำนวนมากขึ้น ในขณะที่ ความต้องการของลูกค้ามีความซับซ้อนขึ้น มีอำนาจและทางเลือกมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการโดยเฉพาะขนาดเล็กและกลาง จึงควรให้ความสนใจอย่างจริงจังต่อการปรับตัวให้เร็ว และให้ทันกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยต้องมีความพร้อมในด้านองค์ความรู้ การทำตลาด และมีเทคโนโลยีที่สามารถจะตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีกว่าเดิม มีการบริหารต้นทุนและความเสี่ยงอย่างเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งการปรับตัวทางด้านต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว จะเป็นสิ่งท้าทายที่สำคัญสำหรับภาคธุรกิจในช่วงเวลาจากนี้เป็นต้นไป--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ