กรุงเทพฯ--4 เม.ย.--สวทช.
เมื่อบ่ายวันที่ 30 มีนาคม 2549 ณ ห้องประชุม Auditorium อาคารศูนย์ประชุมฯ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย คลองหลวง ปทุมธานี ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เป็นประธานในพิธีเปิดตัวศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (Technology Management Center: TMC) อย่างเป็นทางการ พร้อมจัดเสวนาเรื่อง "การบริหารจัดการเทคโนโลยีกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" โดยมีวิทยากรจำนวน 4 รายจากเครือเบทาโกร บริษัท น้ำตาลมิตรผล บริษัท พี.ซี.โปรดักชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล และบริษัท ภราดรอุตสาหกรรม เข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในหัวข้อดังกล่าว ซึ่งจัดขึ้นในงานประชุมประจำปี สวทช. หรือ NSTDA Annual Conference (NAC 2006) ในระหว่างวันที่ 30 มี.ค. - 1 เม.ย. 49 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย
การเสวนาดังกล่าว ได้รับเกียรติจากผู้ประกอบการภาคเอกชนจำนวน 4 ราย ได้แก่ นายวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบทาโกร อโกรกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นายศุภนิตย์ มานะจิตต์ รองผู้จัดการใหญ่ สายงานอ้อย ภาคกลาง บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด นายประวุธ จันทร์เจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีซี โปรดักส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และนายวิเชียร เชิดชูตระกูลทอง ประธานกรรมการ บริษัท ภารดรอุตสาหกรรม เชียงใหม่ โดยสาระสำคัญของการเสวนาประกอบด้วยการสร้าง ความเข้าใจในเรื่อง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานนั้น เน้นหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1) เหตุและผล หมายถึง การจะทำงานหรือธุรกิจอะไรก็ตามจะต้องคิดให้ถี่ถ้วนโดยพิจารณาจากเหตุและผล ก่อนลงมือปฏิบัติจริง 2) การประมาณตน หมายถึง การรู้จักศักยภาพของตนเอง ทำอะไรไม่เกินกำลังความสามารถ และ 3) การมีภูมิคุ้มกัน หมายถึง การวางแผนรองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ซึ่งหลัก 3 ประการนี้ จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ตั้งแต่ระดับบุคคลจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น เครือซิเมนต์ไทยที่ได้ปฏิบัติตามหลักการทั้งสามข้อนี้ จนนำบริษัทให้ผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ได้ และยังคงใช้เป็นหลักดำเนินธุรกิจมาจนถึงปัจจุบัน
นอกเหนือจากแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงที่ใช้เป็นหลักในการประกอบธุรกิจแล้วนั้น สิ่งสำคัญอีกประการคือ การเลือกสรรเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับศักยภาพของตนเอง ซึ่งจะช่วยเสริมให้เอกชนสามารถปรับปรุงกระบวนการผลิต หรือสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อช่วยลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ให้กับบริษัท เช่น เครือเบทาโกร (ผู้ผลิตและพัฒนาอาหารที่มีคุณภาพสูงและปลอดภัย) ได้ปรับปรุงกระบวนการชำแหละไก่สด โดยการใช้อุปกรณ์ ตัดแต่งเนื้อไก่แบบที่ช่วยให้พนักงานทำงานได้เร็วขึ้น หรือการดัดแปลงเครื่องบรรจุไก่กระป๋องจากพื้นฐานเครื่องมือเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้ได้ไก่บรรจุกระป๋องตามข้อกำหนดของลูกค้า ส่วนบริษัทน้ำตาลมิตรผลสามารถลดต้นทุนและเพิ่มรายได้เกษตรกรผู้ตัดอ้อยได้ โดยตั้งจุดรับอ้อยกลางที่บริษัทได้ดัดแปลงอุปกรณ์ที่ใช้ยกเสาเข็มมายกอ้อยที่ตัดแล้วจากรถของเกษตรกรรวม ๆ กันเพื่อส่งไปยังโรงงาน ส่วนนี้เกษตรกรสามารถขายอ้อยโดยตรงกับทางบริษัทโดยไม่ต้องผ่านคนกลาง ทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น
ในขณะที่ SMEs อย่าง พี.ซี.โปรดักส์ ทดลองใช้วัสดุใหม่มาผลิตสินค้า เช่น สังกะสีมาทำอุปกรณ์ ถ่วงล้อ โดยได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญที่ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยีจัดหาให้ จนได้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่มีน้ำหนักเบา ไม่เกิดมลภาวะ และเป็นที่ยอมรับสำหรับประเทศทางแถบยุโรป เช่นเดียวกับบริษัทภราดรอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาและผลิตภัณฑ์กระเบื้องพิมพ์ลายสำหรับตกแต่ง ที่รับคำปรึกษาใน การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี จนสามารถผลิตอิฐสองสีด้วยเทคโนโลยีใหม่ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ใช้ในงานตกแต่งภายในและได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดภายในและภายนอกประเทศ
ทั้งนี้ จากตัวอย่างบริษัทที่ประสบความสำเร็จข้างต้น สามารถพิสูจน์ให้เห็นว่าการผสมผสาน แนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” เข้ากับการบริหารจัดการเทคโนโลยีที่เหมาะสมจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาในทางที่ดีและยั่งยืนต่อไป
จากผลของความสำเร็จที่ผ่านมา สวทช. ได้เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมและสังคมไทยสามารถนำเทคโนโลยีที่ไปใช้พัฒนาตนเองตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำถึงปลายน้ำ จึงได้จัดตั้ง “ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี” ขึ้นเพื่อรับผิดชอบภารกิจในส่วนนี้โดยตรง ซึ่งปัจจุบันศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยีได้ให้บริการ 5 ภารกิจหลัก อันได้แก่ ด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี ที่เป็นการให้บริการคำปรึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อการผลิตและปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นแก่ภาคอุตสาหกรรม กระทั่งนำไปสู่นวัตกรรมของสินค้าและบริการที่ไม่เคยมีมาก่อน รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนชนบท เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนพัฒนาและพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน สำหรับด้านโครงสร้างพื้นฐานจะให้บริการพื้นที่เช่าเพื่อทำวิจัย เครื่องมือ ที่ทันสมัย สิ่งอำนวยความสะดวก และบริการสนับสนุนต่างๆ แก่ภาคเอกชน ส่วนด้าน การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ในเทคโนโลยีต่างๆ เช่น การสนับสนุนทุนการศึกษาในทุกระดับชั้นการศึกษา
นอกจากนี้ ยังมีบริการด้านการวิจัยนโยบายซึ่งให้บริการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย แผนและมาตรการระดับชาติ เพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ และเพื่อการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคม ให้ผลักดันนโยบายสู่การปฏิบัติจริง สำหรับส่วนสุดท้ายเป็น การบริหารงานวิจัยจากห้องทดลองสู่ตลาดโลก ซึ่งในส่วนนี้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยีได้บ่มเพาะการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จนถึงระดับที่สามารถจะนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้แล้ว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช.
โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1476 - 78, 0-9521-2564 โทรสาร 0-2564-7000 ต่อ 1470
e-mail: pr_tmc@nstda.or.th
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net