กกร. ชี้แจงผลกระทบการประกาศเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด

ข่าวทั่วไป Thursday March 12, 2009 16:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้พิจารณาผลกระทบจากข้อร้องเรียนของผู้ประกอบการในเขตนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ตามที่ศาลปกครองระยองได้ประกาศเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุดนั้น เห็นว่าเรื่องนี้มีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อทั้งประชาชนทั่วไป ชุมชน ภาคเอกชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ และภาครัฐ เนื่องจากอุตสาหกรรมใน จ.ระยองเป็นเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของประเทศ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ทั้งยังดำเนินการควบคุมสิ่งแวดล้อมดีกว่ามาตรฐานที่กำหนดอยู่แล้ว ซึ่งมีความเห็นร่วมกันว่า การประกาศเขตนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดระยองเป็นเขตควบคุมมลพิษ อาจจะกระทบต่อการลงทุน และมีผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และอาจเกิดการย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ รวมทั้งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนภาพรวมของประเทศ เพราะในเขตพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีรายได้สูงถึงปีละ 1.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11 ของ GDP ของประเทศ รวมทั้งมีการจ้างงานกว่า 1 แสนอัตรา ทั้งนี้ มติที่ประชุม กกร. เห็นชอบให้นำประเด็นผลกระทบจากการประกาศเขตนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดระยองเป็นเขตควบคุมมลพิษ เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ กรอ. ครั้งที่ 3/2552 ในวันที่ 18 มีนาคม 2552 เพื่อพิจารณาประเด็นข้อเสนอ แต่เนื่องจากการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีกำหนดขึ้นในวันที่ 16 มีนาคม 2552 ซึ่งดำเนินก่อนการประชุมคณะกรรมการ กรอ. ครั้งที่ 3/2552 ดังนั้น คณะกรรมการ กกร.จึงได้นำเสนอมติ ข้อเสนอและแนวทางดำเนินการเพื่อแก้ไขผลกระทบจากการประชุม กกร. เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552 ให้กับนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณา ดังนี้ 1. ควรมอบหมายคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติยื่นอุธรณ์ ภายใน 30 วันหลังการอ่านคำพิพากษาของศาลปกครองระยอง เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552 เพื่อรวบรวมและนำเสนอข้อเท็จจริงเพิ่มเติม รวมทั้งข้อมูลในกรณีที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติวาระที่ผ่านมา ไม่มีการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ โดยให้มีการชี้แจงเหตุผล สาเหตุและความจำเป็นของเรื่องดังกล่าว ตลอดจนมาตรการและแผนการดำเนินงานในการลดและขจัดมลพิษในพื้นที่จังหวัดระยอง ซึ่งกำลังทำอยู่ 2. ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานบริหารส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ ผู้แทนภาคประชาชน และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อศึกษาผลกระทบในภาพรวมอย่างเป็นระบบ และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย (ภายในระยะเวลาที่กำหนด) เพื่อศึกษาข้อเท็จจริงของสภาพปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่และผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สังคมและสุขภาพ เนื่องจากในปัจจุบันยังขาดข้อมูลที่เป็นระบบและได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน 3. มอบหมายคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก (ESB) ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2552 ศึกษาผลกระทบต่อนโยบายการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านการท่องเที่ยว การบริการ การเกษตร และอุตสาหกรรม เพื่อกำหนด Master Plan สำหรับพื้นที่ดังกล่าว 4. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมจัดทำแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษเพิ่มเติมจากที่ทำอยู่ในปัจจุบัน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โทรศัพท์ 0-2345-1017 โทรสาร 0-2345-1296-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ