ปิดเทอมนี้ ระวัง...เด็กเล่นน้ำ อาจสำลักน้ำ-เชื้อโรคลงปอด ถึงตายได้

ข่าวทั่วไป Thursday March 12, 2009 15:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--คอมมูนิเตคชั่น แอนด์ มอร์ กุมารแพทย์ห่วงเด็กที่ชอบเล่นน้ำ ว่ายน้ำในช่วงหน้าร้อนและปิดเทอม ถ้าไม่ระมัดระวังดัวอาจเกิดการสำลักน้ำ เกิดการระคายเคืองในเยื่อบุจมูก ส่งผลให้เชื้อต่างๆ ที่อาศัยอยู่ที่โพรงจมูกลุกลามเข้าไปในปอด เกิดการกระจายของเชื้อโรคไปทั่วร่างกายได้ ที่พบบ่อยได้แก่ เชื้อที่สำลักเข้าไปที่ปอด โดยเฉพาะเชื้อนิวโมคอคคัส เป็นสาเหตุหนึ่งของโรคติดเชื้อรุนแรง (ไอพีดี) อาทิ โรคปอดอักเสบ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด อาจถึงตาย หรือพิการในเวลารวดเร็วได้ เตือนพ่อแม่ต้องดูแลลูกอย่างใกล้ชิด หากเห็นลูกผิดปกติควรจะไปพบแพทย์ทันที ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีรชัย ฉันทโรจน์ศิริ ประธานชมรมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็กแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ช่วงเดือนมีนาคม และเมษายนที่จะถึงนี้เป็นช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนของเด็กๆ ทุกคน พ่อแม่และผู้ปกครองมักจะพาลูกๆ ไปเที่ยวพักผ่อนที่ทะเล หรือน้ำตก ประกอบกับอากาศที่ร้อนอบอ้าว จึงทำให้การเล่นน้ำเป็นสิ่งที่เด็กๆ ชื่นชอบเป็นพิเศษ แต่พ่อแม่ต้องดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด เพราะการเล่นน้ำก็มีอันตรายที่น่ากลัวซ่อนอยู่เช่นกัน เพราะขณะเล่นน้ำอาจจะเกิดการสำลักน้ำได้ ยิ่งกรณีเด็กต่างจังหวัดที่ชอบเล่นน้ำในบ่อธรรมชาติ หรือคลองธรรมชาติ ยิ่งอันตรายเพราะในน้ำธรรมชาติมักจะมีเชื้อโรคต่างๆอาศัยอยู่มากมาย หากเด็กเกิดการสำลักน้ำเข้าไปก็จะทำให้เชื้อโรคเหล่านั้นเข้าสู่ปอดได้โดยตรง หรือแม้กระทั่งการว่ายน้ำในสระว่ายน้ำก็อาจเกิดขึ้นได้ เพราะในโพรงจมูกของคนเรายังมีเชื้อโรคอาศัยอยู่ด้วย โดยเฉพาะเชื้อบางชนิด เช่น เชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส ซึ่งเชื้อดังกล่าวอาศัยอยู่ในเยื่อบุโพรงจมูก และลำคอของคนเรา กรณีสำลักน้ำและเยื่อบุโพรงจมูกเกิดอาการระคายเคืองอาจทำให้เชื้อดังกล่าวรุกล้ำเข้าสู่ร่างกาย และก่อให้เกิดการติดเชื้อที่อวัยวะต่างๆ เช่นโรคปอดบวม ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของเด็กเล็กทั่วโลกกว่าปีละ 2 ล้านคน โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และโรคติดเชื้อในกระแสเลือด รวมทั้งโรคหูน้ำหนวกอีกด้วย ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีรชัย กล่าว “อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้คุณพ่อคุณแม่ตื่นตระหนกจนเกินไปกับเชื้อโรคตัวนี้ แต่ก็ไม่อยากให้มองข้ามหรือละเลย เพราะโรคติดเชื้อไอพีดีในเด็กนี้ถ้าเป็นแล้วถ้ารักษาไม่ทันท่วงทีก็จะมีโอกาสที่เด็กจะเกิดความพิการ และบางรายถึงกับเสียชีวิตได้ และระยะการดำเนินของโรคมีบางครั้งก็สั้นมากอาจใช้เวลาเพียงแค่ 2-3 วันเท่านั้นเอง ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรดูแลและสังเกตลูกน้อยอย่างใกล้ชิด และหากเด็กตัวร้อน ไข้ขึ้นสูง ขนาดทานยาลดไข้และเช็ดตัวแล้วไข้ไม่ลดลง งอแงและซึมสลับกันไป ไม่กินอาหาร ควรรีบพาพบแพทย์โดยด่วน” “เมื่อลูกน้อยเล่นน้ำเสร็จ ควรเช็ดตัวและเช็ดผมให้แห้ง และใส่เสื้อผ้าที่อบอุ่น ในส่วนของการป้องกันโรคติดเชื้อไอพีดีพื้นฐาน นอกเหนือจากการให้ทารกดื่มนมแม่ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ การล้างมืออย่างถูกวิธี และรักษาสุขอนามัยเป็นประจำ ตลอดจนการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้ติดเชื้อได้ยากขึ้น หรือมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคได้ นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสแล้ว ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้เด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบทุกคนฉีดวัคซีนไอพีดี โดยการฉีดวัคซีนดังกล่าวให้แก่เด็กจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อที่นำไปสู่การเสียชีวิตและเกิดความพิการจากเชื้อโรคที่ไปยังอวัยวะต่าง ๆ ได้ แต่วัคซีนดังกล่าวยังเป็นวัคซีนทางเลือก ยังไม่ได้ถูกจัดให้เป็นวัคซีนพื้นฐานเช่นเดียวกับวัคซีนอื่นๆ คุณพ่อคุณแม่ต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการฉีดให้ลูกหลานด้วยตัวเอง” ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีรชัย กล่าวทิ้งท้าย สื่อมวลชนต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อ บุษบา (บุษ) / พิธิมา (ก้อย) โทร. 02-718-3800 ต่อ 133 / 138

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ