กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--สสวท.
เมื่อนักเรียนเบื่อหน่ายที่จะเรียนวิทยาศาสตร์ ครูก็ต้องหาแรงจูงใจต่าง ๆ ที่จะชักจูงให้เด็ก ๆ ได้เข้าถึงเนื้อหาสาระทางวิทยาศาสตร์อย่างเต็มใจและเข้าใจมากขึ้นตามตาแนวทางที่ถนัดของคุณครูแต่ละคน ละครวิทยาศาสตร์ก็เป็นอีกกลวิธีหนึ่งที่ถูกนำมาใช้
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ร่วมกับวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดทำโครงการสร้างความเข้าใจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเรียนรู้สำหรับโลกอนาคตแก่สาธารณชน เน้นการพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาในการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเพื่อสร้างความตระหนัก และความเข้าใจวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีให้กับนักเรียนและสังคม
โดยการนำการแสดงละครวิทยาศาสตร์ (Science Drama) และการแสดงทางวิทยาศาสตร์ (Science Show) เข้ามาใช้เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมทำให้เกิดบรรยากาศในการเรียนรู้ควบคู่ไปกับความสนุกสนานตามที่สังคมในปัจจุบันต้องการ เนื่องจากการนำเนื้อหาวิทยาศาสตร์มาถ่ายทอดผ่านการแสดงละคร จะทำให้การเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ไม่น่าเบื่อ และนักเรียนจะได้ซาบซึ้งและ
เกิดความรู้สึกที่ดีต่อการเรียนวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น
ผลงานที่ผ่านมาของโครงการนี้ คือ ละครวิทยาศาสตร์เรื่อง "ดู...ดู๊...ดู ดูคนทำ ทำไมถึงทำกับโลกได้" ซึ่งจัดแสดงไปแล้ว 2 ตอน ละครตอนแรก เป็นตอน “โลกร้อน” จัดแสดงรอบปฐมทัศน์ ในวันที่ 17 กันยายน 2551 ที่ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ฯ (เอกมัย) และตอนที่ 2 “รีไซเคิล” จัดแสดงครั้งแรกในโอกาสคล้ายวันสถาปนา สสวท. ครบรอบ 36 ปี ในวันที่ 16 มกราคม 2552 ณ สสวท. ล่าสุด สสวท. และวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้จัด “ค่ายละครวิทยาศาสตร์ ” เมื่อวันที่ 6 — 8 มีนาคม 2552 ณ สสวท. หลังท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ โดยมีครูวิทยาศาสตร์ 20 คน และนักเรียน ม. ปลายสายวิทยาศาสตร์ 40 คน จากโรงเรียนใน กทม. ปริมณฑล ต่างจังหวัด และจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมเข้าค่าย
กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อให้ครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ และนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสายวิทยาศาสตร์ มีทักษะด้านละครวิทยาศาสตร์และการแสดงทางวิทยาศาสตร์ ได้เข้าใจถึงการนำเอาเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์บางเรื่องมาสอนโดยผ่านการแสดงละคร รวมทั้งสามารถประยุกต์ใช้ทักษะด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงละครกับการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในชั้นเรียนปกติ
นายสุทธิพงษ์ พงษ์วร นักวิชาการสาขาชีววิทยา สสวท. หนึ่งในทีมผู้จัดค่ายละครวิทยาศาสตร์ เปิดเผยว่า “เราพยายามจะเสนอทางเลือกอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน เพราะการนำเสนอวิธีการเรียนการสอนที่มีความหลากหลาย จะทำให้การเรียนการสอนมีความสนุก น่าสนใจ และไม่น่าเบื่อ ทักษะทางด้านการแสดงที่ผู้เข้ารับการอบรมได้เรียนรู้จากค่ายนี้สามารถนำไปใช้ได้โดยตรง ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ใช้ในการสอน การพูดหรือการนำเสนอผลงานหน้าชั้นเรียน เป็นต้น ผู้เข้ารับการอบรมจะได้เห็นความแตกต่างระหว่างละครแบบที่เคยจัดทำในโรงเรียน และละครวิทยาศาสตร์ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมจะต้องนำเอาเนื้อหาทางวิทยาศาสตร์เข้าไปสอดแทรกอย่างกลมกลืน จึงจะทำให้ละครดูสนุกและได้สาระไปพร้อมๆ กัน”
กิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์นี้ เน้นฝึกทักษะการแสดง ตั้งแต่สีหน้า ท่าทาง น้ำเสียง การประดิษฐ์อุปกรณ์ประกอบการแสดงภายใต้ทรัพยากรและเวลาที่จำกัด เน้นวัสดุอุปกรณ์รีไซเคิล หาได้ง่ายทั่วไป เช่น กิจกรรมร่างกายและเสียงของนักแสดง การแสดงบทบาทสมมติ การแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า การสร้างโครงเรื่องและการเขียนบท การแสดงบทบาทสมมติ ทดลองแสดงละครสั้น การออกแบบและจัดพื้นที่สำหรับการแสดง การสร้างอุปกรณ์จากวัสดุรีไซเคิลเพื่องานแสดง การแต่งหน้าสำหรับการแสดง การออกแบบเสื้อผ้าเพื่อการละคร เป็นต้น
มีการแบ่งผู้เข้าอบรมเป็นกลุ่มละ 10 คน คละครูและนักเรียนจากแต่ละโรงเรียน โดยแต่ละกลุ่มจะได้เลือกอุปกรณ์ที่ต้องใช้เพื่อการแสดงที่ทุกกลุ่มต้องแสดงในวันสุดท้ายของการเข้าค่าย กลุ่มละ 1 ชิ้น ที่สำคัญทุกกลุ่มจะได้ “คำสำคัญ” (Keyword) ที่ต้องมีในการแสดงละคร เช่น คำสำคัญของกลุ่มดาราศาสตร์ มีคำว่า ดาวเคราะห์ดวงที่ 9 หายไป กล้องโทรทัศน์ โลก สภาวะไร้น้ำหนัก ดวงอาทิตย์ กาลิเลโอ น้ำขึ้นน้ำลง ยานอวกาศ ก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็ก AF กลุ่มเคมี ปี 1972 ยกเลิกการใช้ DDT ทั่ว USA Mutation DNA โคบอลต์ 60 pH SPF 15 โครงสร้างทางเคมี เพชร What’s up? ขนมขาไก่ กลุ่มฟิสิกส์ แรงโน้มถ่วง กฎของนิวตัน แรงเสียดทาน พลังงาน บอลลูน
E = mc2 ยานสำรวจอวกาศ เวลา อาจารย์ซอ Nobody, Nobody กลุ่มชีววิทยา 12 กพ 52 ครบ 200 ปี ชาร์ล ดาร์วิน เกาะกาลาปากอส ทฤษฏีวิวัฒนาการของจักรวาล เพศที่ 3 เม็ดเลือดแดง วาฬเกยตื้น เชื้อโรค สิ่งแวดล้อม ช่วงช่วง หลินฮุ่ย ชั้นไม่เชื่อ
กิจกรรมตั้งแต่ต้นจบจบค่ายก็สนุกสนานกันไปสำหรับชาวค่ายละครวิทยาศาสตร์ แต่จะได้สาระและประสบการณ์อย่างไรบ้างนั้น มาฟังจาก อาจารย์ราตรี แก้วฉ่ำ ครูวิทยาศาสตร์ โรงเรียนบางระจันวิทยา จังหวัดสิงห์บุรี กล่าววว่า ละครวิทยาศาสตร์นั้นน่าจะสามารถนำไปใช้สอนเรื่องยาก ๆ ให้ง่ายขึ้นได้ สามารถใช้ในการสอนชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ได้ โดยอาจจะให้นักเรียนคิดเรื่องและนำเสนอในรูปแบบของการแสดงละครแทนการส่งงานเป็นเอกสารรายงาน
“กิจกรรมที่ประทับใจในค่ายนี้ คือ การแสดงละครวิทยาศาสตร์ เพราะได้ใช้ความรู้จากการอบรม ได้ประโยชน์มาก เพราะได้ทราบขั้นตอนของการจัดทำละครวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่การเขียนบทไปจนถึงการแสดงบนเวที และนำไปประยุกต์ใช้ในการสอนวิทยาศาสตร์ได้”
คุณครูปุณณรัตน์ ธำรงพัฒนารักษ์ ครูวิทยาศาสตร์ โรงเรียนชลราษฎร์อำรุง จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ความรู้ที่ได้จากค่ายสามารถที่จะนำไปใช้ในกิจกรรมการแสดงทุกๆ อย่างในโรงเรียน ได้เรียนรู้การนำเสนอเนื้อหาวิทยาศาสตร์อีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างไปจากที่เคยทำอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และในอนาคตจะนำละครวิทยาศาสตร์ไปใช้ในการเข้าสู่บทเรียนในบางเนื้อหาที่เหมาะแก่การทำละครได้
ครูธนากร นาควรรณ ครูชีววิทยา โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา กรุงเทพมหานคร เล่าว่า กิจกรรมที่วิทยากรจัดให้ มีความประทับใจมาก โดยเฉพาะการทำหน้ากาก แต่งหน้า กิจกรรมในค่ายทำให้เกิดแนวคิดในการทำละครวิทยาศาสตร์มาสร้างบรรยากาศในชั้นเรียน ทำให้นักเรียนไม่เบื่อหน่าย และเกิดความรักและสนใจในวิชาวิทยาศาสตร์มากขึ้น
เสียงจากเยาวชนที่ร่วมเข้าค่าย นางสาวมารีดา บินอุเซ็ง (ยา) ชั้น ม. 4 โรงเรียนนราสิกขาลัย จังหวัดนราธิวาส บอกว่า หนูชอบวิชาวิทยาศาสตร์ และชอบการแสดงละคร จึงได้มาเข้าค่ายนี้ เพื่อที่จะนำความรู้ไปประกอบการเรียนได้ดีขึ้น กลับไปจะนำความรู้ที่ได้ไปฝึกอบรมละครวิทยาศาสตร์แก่รุ่นน้องที่โรงเรียน และร่วมกับคุณครูพัฒนาการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านละครในโรงเรียนให้น่าสนใจ
มากขึ้น
นางสาวพกายวรรณ เวชกามา (เมย์) ชั้น ม. 4 โรงเรียนพุทธจักรวิทยา กทม. บอกว่า ค่ายนี้เป็นค่ายที่นำวิทยาศาสตร์และศิลปะมาประยุกต์เข้าด้วยกัน นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมที่ชอบเยอะ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ การเขียนบท การแต่งหน้า ฯลฯ เป็นสิ่งสำคัญที่รวมกันแล้วเกิดเป็นการเรียนรู้ที่คุ้มค่า ที่ประทับใจคือกิจกรรมละลายพฤติกรรมค่ะ บอกตามตรงว่าหนูไม่เคยได้ยินชื่อกิจกรรมนี้เลย เพิ่งมาได้ยินก็ที่นี่แหละ ประโยชน์ที่ได้รับกลับไปคือมีความมั่นใจในสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น ได้พฤติกรรมใหม่หลังจากถูกละลาย และได้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้วย
สนใจละครวิทยาศาสตร์ของ สสวท. ติดต่อได้ที่อีเมล์ spong@ipst.ac.th