กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--ก.ไอซีที
นางสาวลัดดา แจ้งเกษมสุข ผู้อำนวยการสำนักธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า หลังจากที่พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2552 ซึ่งในพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ได้กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Electronic payment (e-Payment) ที่ประสงค์จะทำธุรกิจ e-Payment ต่อไป จะต้องยื่นแบบแจ้งให้ทราบตามบัญชี ก หรือขอขึ้นทะเบียนตามบัญชี ข หรือขอรับใบอนุญา ตามบัญชี ค แล้วแต่กรณี ให้แล้วเสร็จภายใน 16 มีนาคม 2552 มิฉะนั้นหากพ้นวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 ผู้ประกอบการจะไม่สามารถให้บริการได้อีก
ซึ่งธุรกิจ e-Payment ที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีทั้งหมด 8 ประเภท โดยมีจำนวน ผู้ให้บริการ ที่เข้าข่ายตามพระราชกฤษฎีกาฯ ดังนี้ 1.การให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) มีจำนวน 25-30 ราย เช่น ไทยสมาร์ทการ์ด ทรูมันนี่ 2.บริการเครือข่ายบัตรเครดิต 3.บริการเครือข่ายอีดีซี 4.บริการสวิตช์ชิ่งในการชำระเงิน 5.บริการหักบัญชี 6.บริการชำระดุล 7. การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอุปกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือผ่านเครือข่าย มีจำนวน 52 ราย อาทิ ธนาคารพาณิชย์ของไทย สาขาธนาคารพาณิชย์จากต่างประเทศ ผู้ให้บริการที่มิใช่สถาบันการเงิน และ 8.บริการรับชำระเงินแทน เช่น บจ.ไปรษณีย์ไทย AIS pay station, Jaymart Pay point เป็นต้น
“ผู้ให้บริการ e-Payment ซึ่งเข้าข่ายประเภทธุรกิจภายใต้ พ.รฎ. e-Payment ในแต่ล่ะบัญชี ที่ประสงค์จะดำเนินธุรกิจของตนต่อไป ขอให้รีบดำเนินการยื่นแบบแจ้งให้ทราบ หรือขอขึ้นทะเบียน หรือขอรับใบอนุญาตตามประเภทธุรกิจของตนให้ทันวันจันทร์ที่ 16 มีนาคม 2552 นี้ มิฉะนั้นจะดำเนินธุรกิจต่อได้แค่ถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 นี้เท่านั้น ซึ่งหากผู้ให้บริการรายใดไม่ดำเนินการแจ้งหรือขึ้นทะเบียนหรือฝ่าฝืนคำสั่งห้ามประกอบธุรกิจ และยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 ซึ่งจะมีโทษปรับหรือจำคุกแล้วแต่กรณี โดยขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการออกประกาศแต่งตั้งพนักงานของธนาคาร เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่พระราชกฤษฎีกาฯ ให้อำนาจไว้ในการเรียกผู้ให้บริการเพื่อให้ข้อมูล และเอกสารใดใดที่เกี่ยวข้อง และหากพบผู้ให้บริการรายใดที่มีการฝ่าฝืนไม่ดำเนินการตามกฎหมายกำหนด ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์พิจารณามูลค่าความเสียหาย และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ดังนั้น หากผู้ให้บริการายใดยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับประเภทธุรกิจของตนเองว่าเข้าข่ายต้องดำเนินการด้วยวิธีใด สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ ฝ่ายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร.02-283-6161หรือ epayment@bot.or.th หรือ www.bot.or.th กระทรวงฯ จึงขอเชิญชวนผู้ให้บริการ e-Payment มาดำเนินการยื่นแบบแจ้งให้ทราบ หรือขอขึ้นทะเบียน หรือขอรับใบอนุญาตให้ทันตามกำหนดเวลา ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยสร้างมาตรฐานระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มีประสิทธิภาพ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล และช่วยให้ธุรกิจนี้มีการขยายตัวมากยิ่งขึ้น” นางสาวลัดดา กล่าว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-5682453 ทิพวรรณ์ ไชยมะโย