กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--กรมการค้าต่างประเทศ
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจใน อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) ปัจจุบันมีความคืบหน้าในสาขาความร่วมมือต่าง ๆ ไปมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านคมนาคมขนส่ง ส่งผลให้มูลค่าการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกเพิ่มสูงขึ้นทุกปี อย่างไรก็ตามความแตกต่างด้านกฎระเบียบการค้าและความไม่พร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ของแต่ละประเทศสมาชิกยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ศักยภาพทางการค้าไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่ ADB จึงได้จัดทำโครงการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ (Regional Technical Assistance: RETA 6450) แก่ประเทศสมาชิก GMS ซึ่งประกอบด้วย 4 ประเด็น (Component) หลัก ๆ ที่เห็นว่าควรได้รับการแก้ไขให้มีมาตรฐานและเป็นไปในทิศทางเดียวกันของประเทศสมาชิก ดังนี้
Component1: Transport and Trade Facilitation Institutional Specialist
กำหนดให้แต่ละประเทศสมาชิกจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยความสะดวกในการขนส่งระดับชาติ (National Transport Facilitation Committee: NTFC) เพื่อประสานการดำเนินงานต่าง ๆ ให้เป็นไปตามความตกลง CBTA และให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำ โขง (GMS CBTA joint committee) เพื่อเป็นตัวแทนในการผลักดันให้ความตกลง CBTA ในด้านต่างๆมีผลเป็นรูปธรรม โดยจะเริ่มพื้นที่นำร่อง ณ จุดผ่านแดนสำคัญๆก่อน และจะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบต่อไป
Component 2: Action plan for improved SPS handling in GMS cross-border trade
เพื่อส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกพัฒนามาตรฐานและลดขั้นตอนการตรวจสอบสินค้าพืชและสัตว์ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการค้าผ่านแดนยิ่งขึ้น
Component 3: Business and Logistics Support — Development National Logistics Plans in the GMS
มีการปรับปรุงและพัฒนาระบบโลจิสติกส์มหภาค (macro-level logistics system) ทั้ง 4 ส่วนหลัก ได้แก่ 1) Shippers/Consignees/Traders 2) Service providers 3) Regional and National Institutions framework และ 4) Transport and communication Infrastructures ให้สามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันของประเทศสมาชิก GMS
Component 4: Regional Information Sharing (ยังไม่เริ่มดำเนินการ)
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่ผ่านมา ADB ให้ความช่วยเหลือการสร้างเส้นทางเครือข่ายเชื่อมโยงการคมนาคมการขนส่งทางถนนทำให้มูลค่าการค้าไทยกับประเทศเพื่อนบ้านใน GMS เพิ่มสูงขึ้นทุกปีโดยในปี 2551 มีมูลค่าสูงถึง 271,000 ล้านบาท และหากโครงการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ RETA6450 ดังกล่าวแล้วเสร็จ ก็จะช่วยสนับสนุนให้การค้าของไทยและประเทศสมาชิกลุ่มแม่น้ำโขงขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอีก รวมทั้งการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่ดีขึ้น ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศจะติดตามความคืบหน้าของโครงการดังกล่าว และนำมาปรับยุทธศาสตร์ส่งเสริมการค้าและ การลงทุนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านใน GMS ต่อไป