กรุงเทพฯ--17 ต.ค.--ปชส.จร.
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ตามติดการใช้สิทธิมาตรการปกป้องพิเศษ ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย และความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นไทย-นิวซีแลนด์ ปีนี้ไทยส่งออกสับปะรดกระป๋องและปลาทูน่ากระป๋องเกินจำนวนที่กำหนดในมาตรการ SSG
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า มาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguards : SSG) เป็นมาตรการหนึ่งในความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย และความตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นไทย-นิวซีแลนด์ ซึ่งใช้เป็นมาตรการป้องกันไม่ให้การนำเข้าในอัตราภาษีที่ต่ำลงภายใต้ความตกลงฯ มากจนเกิดผลกระทบต่อภาคการผลิตในประเทศ โดยจะกำหนดปริมาณนำเข้าเกินปริมาณที่กำหนดไว้ในแต่ละปีจำนวนหนึ่ง (Trigger Volume) หากมีการนำเข้าสินค้าเกินปริมาณที่กำหนดส่วนเกินนั้นจะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราเดิมก่อนที่ความตกลงฯ มีผลใช้บังคับ (Base Rate)หรือ อัตราปกติ (MFN Rate) อัตราใดอัตราหนึ่งที่ต่ำกว่า
ไทยกำหนดสินค้าที่ใช้มาตรการ SSG จำนวน 23 รายการ ได้แก่ บัตเตอร์มิลค์ องุ่นสด น้ำผึ้งธรรมชาติ เครื่องในสัตว์ และเนยแข็ง เป็นต้น สำหรับนิวซีแลนด์ไม่มีมาตรการ SSG กับไทย ส่วนออสเตรเลียกำหนดไว้สำหรับการนำเข้าจากไทย 2 รายการ ได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง และสับปะรดกระป๋อง ซึ่งในปีที่ผ่านมาเป็นปีแรกของการใช้ความตกลงฯ โดยปีนี้ไทยส่งออกสับปะรดกระป๋องและปลาทูน่ากระป๋องไปออสเตรเลียเกินจำนวนที่กำหนดในมาตรการ ดังนั้น การส่งออกสับปะรดกระป๋องตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2549 และปลาทูน่ากระป๋อง ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2549 ไทยจะต้องเสียภาษีในอัตราปกติ คือ ร้อยละ 5
สำหรับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ก็โดนไทยใช้มาตรการนี้เหมือนกัน โดยออสเตรเลียส่งออกองุ่นสด เนยแข็งทุกชนิด และเนยแข็งอื่นๆ มาไทยเกินจำนวนที่กำหนดตั้งแต่เดือนเมษายน พฤษภาคมและกันยายน ส่วนนิวซีแลนด์ในสินค้าเนยและครีมข้นไม่เติมน้ำตาล เนยไขมันและน้ำมันอื่นๆ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม
“มาตรการ SSG ออสเตรเลียจะสิ้นสุดในปี 2552 หมายความว่า ผู้ส่งออกไทยจะสามารถส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและสับปะรดกระป๋องไปออสเตรเลียโดยใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ความตกลงได้โดยไม่จำกัดปริมาณ สำหรับไทยการใช้มาตรการ SSG จะสิ้นสุดในปี 2564 และเพื่อประโยชน์ในการเตรียมแผนทางธุรกิจ ผู้ส่งออกสามารถดูรายละเอียดรายการและปริมาณได้ที่ website กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ www.dtn.go.th และ www.thaifta.com โดยสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของปริมาณนำเข้าได้จากกรมศุลกากร www.customs.go.th ” นางอภิรดีกล่าว