องค์การหมอไร้พรมแดน ยินดีกับการบังคับใช้สิทธิเพื่อนำเข้ายาต้านไวรัสของรัฐบาลไทยพร้อมสนับสนุนให้ใช้มาตรการนี้กับยาจำเป็นตัวอื่นๆเพิ่มเติม

ข่าวทั่วไป Thursday November 30, 2006 11:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--องค์การหมอไร้พรมแดน
จากการที่รัฐบาลไทยได้ประกาศที่จะบังคับใช้สิทธิโดยรัฐบาลเพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาเอฟฟาไวเรนซ์ (Efavirenz) ยาต้านไวรัสที่สำคัญซึ่งปัจจุบันติดสิทธิบัตรทำให้เกิดการผูกขาด และประชาชนไม่สามารถเข้าถึงยาได้
บริษัทเมิร์ค (Merck) ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิบัตรไม่สามารถจัดส่งยาเอฟฟาไวเรนซ์อยู่บ่อยครั้ง “ส่งผลกระทบกระเทือนกับการรักษาอย่างมาก ทำให้หลายๆโรงพยาบาลต้องให้คนไข้กินยาต้านไวรัสเพียง 2 ตัว แทนที่จะเป็น 3 ตัว” นายแพทย์เดวิด วิลสัน ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ขององค์การหมอไร้พรมแดน-เบลเยี่ยม (ประเทศไทย) กล่าว
แม้ว่าบริษัทเมิร์คได้ลดราคายาเอฟฟาไวเรนซ์ให้ (ปัจจุบัน ราคาอยู่ที่ 1,500 บาทต่อผู้ป่วยต่อเดือน) แต่ราคายาชื่อสามัญที่ผลิตและขายในอินเดียนั้น มีราคาถูกกว่าครึ่งหนึ่ง (800 บาทต่อผู้ป่วยต่อเดือน)
การผลิตยาชื่อสามัญมีความสำคัญอย่างยิ่งกับโครงการการให้ยาต้านไวรัสในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก่อนที่องค์การเภสัชกรรมจะสามารถผลิตยาชื่อสามัญได้นั้น ราคายาต้านไวรัสในประเทศไทยอยู่ที่กว่า 33,000 บาทต่อผู้ป่วยต่อเดือน มีผู้ติดเชื้อที่เข้าถึงการรักษาในขณะนั้นเพียง 3,000 คนเท่านั้น จนกระทั่งปี 2545 รัฐบาลไทยได้ผลิตยาต้านไวรัสสูตรค็อคเทล ทำให้ราคายาลดลง 18 เท่า มีผู้ติดเชื้อเข้าถึงการรักษาในปัจจุบันมากถึง 84,000 คน
ขณะนี้ องค์การเภสัชกรรมกำลังอยู่ระหว่างการผลิตยาชื่อสามัญของเอฟฟาไวเรนซ์ ซึ่งน่าจะประสบความสำเร็จในปี 2550 ระหว่างนี้ รัฐบาลไทยจะอนุญาตให้กรมควบคุมโรคนำเข้ายาชื่อสามัญของเอฟฟาไวเรนซ์จากประเทศอินเดีย ซึ่งมีราคาถูกกว่ายาชื่อการค้าครึ่งหนึ่ง และเพิ่มช่องทางการจัดซื้อให้มั่นใจถึงการจัดหายามารักษาผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อฯในไทยอย่างยั่งยืน
“ประเทศไทยกำลังแสดงให้เห็นว่า ชีวิตของผู้คนต้องมาก่อนสิทธิบัตรยาของบรรษัท และนโยบายนี้ควรขยายไปถึงยาต้านไวรัสตัวอื่นๆที่มีราคาแพงและขาดแคลนด้วย เช่น โลพินาเวีย/ลิโทนาเวีย (lopinavir/ritonavir) หรือในชื่อการค้า “คาเรทร้า” (Kaletra) ในปัจจุบันราคาอยู่ที่ 7,000 บาทต่อคนต่อเดือนซึ่งถือว่าแพงมากสำหรับประเทศไทย” นายแพทย์วิลสันกล่าว
รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่
น.พ.เดวิด วิลสัน ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ 02-3703087-90, 081-9873241 (ภาษาอังกฤษ)
คุณลาวัลย์ สาโรวาท ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการแพทย์ 085-070-1350 (ภาษาไทย)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ