กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--ก.ล.ต.
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ในการประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2552 ได้มีการหารือเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนไทยสามารถไประดมทุนในต่างประเทศได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยสามารถใช้ผู้สอบบัญชีที่สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ความเห็นชอบทำการตรวจสอบงบการเงินได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ผู้สอบบัญชีจากต่างประเทศ
กรณีนี้สืบเนื่องจากที่สหภาพยุโรป (European Commission : EC) ได้มีหนังสือแจ้งสำนักงาน ก.ล.ต. ว่า ข้อกำหนดปัจจุบันกำหนดให้ผู้สอบบัญชีของบริษัทที่จะระดมทุนในประเทศสมาชิก EC จะต้องขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานอิสระที่กำกับดูแลการสอบบัญชีของประเทศสมาชิกนั้น อย่างไรก็ตาม หน่วยงานกำกับดูแลดังกล่าวสามารถผ่อนผันการขึ้นทะเบียนหรือผ่อนคลายการกำกับดูแลผู้สอบบัญชีของบริษัทต่างประเทศได้ หากประเมินแล้วเห็นว่า ระบบการกำกับดูแลการสอบบัญชีของประเทศนั้นๆ มีคุณภาพทัดเทียมกับมาตรฐานสากลและมาตรฐานของประเทศสมาชิก EC
สำหรับกรณีของประเทศไทยนั้น EC ยินดีที่จะพิจารณาขยายเวลาให้ประเทศไทยมีเวลาเตรียมตัวนานขึ้นก่อนที่ EC จะเข้ามาประเมินระบบการกำกับดูแลการสอบบัญชีของไทยอย่างเป็นทางการ หากประเทศไทยสามารถให้คำรับรองได้ว่ามีแผนงานที่ชัดเจนเกี่ยวกับการจัดให้มีระบบการกำกับดูแลการสอบบัญชีที่ได้มาตรฐานตามที่กล่าว ในการประชุมครั้งนี้คณะกรรมการ ก.ล.ต. จึงเห็นชอบในการแก้ไขหลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบผู้สอบบัญชีเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ดังนี้
1. กำหนดให้ผู้สอบบัญชีของบริษัทจดทะเบียน บริษัทที่ออกหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์ จะต้องสังกัดสำนักงานสอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต.
2. สำนักงานสอบบัญชีที่จะได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. จะต้องจัดให้มีระบบการควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีเพื่อให้แน่ใจว่าการสอบบัญชีได้มาตรฐานสากลที่กำหนดโดย International Federation of Accountants ได้แก่ ISQC1 และ ISA220 ซึ่งมีข้อกำหนดใน 7 ส่วนหลักๆ ดังนี้ 1) ความรับผิดชอบของผู้บริหารของสำนักงานสอบบัญชี 2) จรรยาบรรณของผู้สอบบัญชี 3) การตอบรับงานและการคงไว้ซึ่งลูกค้า 4) การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล 5) การปฏิบัติงานสอบบัญชี 6) การติดตามการปฏิบัติงานของผู้ช่วยผู้สอบบัญชี และ 7) การจัดทำเอกสาร
ทั้งนี้ เพื่อให้สำนักงานสอบบัญชีมีระยะเวลาในการเตรียมตัว สำนักงาน ก.ล.ต. จึงจะกำหนดให้หลักเกณฑ์ดังกล่าวมีผลใช้บังคับในปี 2556 โดยก่อนที่จะออกหลักเกณฑ์ดังกล่าว สำนักงาน ก.ล.ต. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ เพื่อเป็นการให้ความช่วยเหลือสำนักงานสอบบัญชีในการเตรียมความพร้อม สำนักงาน ก.ล.ต. จะเข้าตรวจเยี่ยมสำนักงานสอบบัญชี เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการวางระบบการควบคุมคุณภาพด้วย”
นายธีระชัย กล่าวต่อว่า “ในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. ยังได้มีมติเห็นชอบให้บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD) ขยายขอบเขตธุรกิจงานให้บริการรับฝากจากเดิมที่ให้บริการเฉพาะการรับฝากหลักทรัพย์ในระบบไร้ใบหุ้น (scripless) มาให้บริการรับฝากทรัพย์สินอื่นในรูปแบบ physical storage แก่บริษัทประกันได้ด้วย ตามที่ประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนด เพื่อให้ TSD สามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้ครบวงจรมากขึ้น ทั้งนี้ ยังจำกัดประเภทเฉพาะทรัพย์สินทางการเงิน (financial asset) เท่านั้น”
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
ฝ่ายงานเลขาธิการ: 0-2695-9502-5 e-mail: press@sec.or.th