กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--กบข.
ตามที่ได้มีข้อมูลปรากฏทางสื่อมวลชนว่า “มูลค่าเงินลงทุนของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ในระหว่างปี 2550-2551 ลดลงจำนวน 58,093 ล้านบาทนั้น ” กบข. ขอชี้แจงข้อเท็จจริงให้สมาชิกทราบว่า ตัวเลขดังกล่าวเป็นตัวเลขที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง โดยในข้อเท็จจริงนั้น อัตราผลตอบแทนส่วนของสมาชิกติดลบ 5.12% หรือคิดเป็นจำนวน 16,832 ล้านบาท สอดคล้องตามที่ กบข. ได้เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวผ่านสื่อสวลชน และ www.gpf.or.th รวมทั้งสื่อต่างๆ ของ กบข. ไปแล้วก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมถึงเงินลงทุนที่ กบข. บริหารทั้งหมดทั้งในส่วนของเงินกองทุนสมาชิกและส่วนเงินสำรอง* ผลตอบแทนลดลง 4,216 ล้านบาท หรือคิดเป็นผลตอบแทนติดลบ 1.12%
( *เงินสำรอง ตาม พ.ร.บ. กบข. มาตรา 72 ให้รัฐตั้งงบประมาณรายจ่ายเป็นรายปีเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า ร้อยละยี่สิบของงบประมาณรายจ่ายบำเหน็จบำนาญของข้าราชการประจำปีเข้าบัญชีเงินสำรองทุกปี...)
หากพิจารณาเปรียบเทียบผลการเจริญเติบโตของ กบข. ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ( 49-51 ) จะพบว่าในปี 2549 กบข. มีสินทรัพย์สุทธิในส่วนของสมาชิกทั้งสิ้น 275,315.89 ล้านบาท ในปี 2550 กบข. มีสินทรัพย์สุทธิในส่วนของสมาชิกทั้งสิ้น 315,926.30 ล้านบาท และในปี 2551 มีสินทรัพย์สุทธิในส่วนของสมาชิกทั้งสิ้น 308,240.94 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าตัวเลขดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงได้ทั้งในทางที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในแต่ละปี และขึ้นอยู่กับการจ่ายเงินคืนสมาชิกพ้นสมาชิกภาพในแต่ละปี ซึ่งในปี 2551 นอกจากการเกษียณอายุราชการตามเกณฑ์ปกติแล้ว ยังมีผู้เกษียณอายุก่อนกำหนดอีกด้วย อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาผลประโยชน์สะสมตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน กบข. ยังสามารถสร้างผลตอบแทนให้สมาชิกได้อย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่ง เห็นได้จากตัวเลขอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนสุทธิย้อนหลังสำหรับสมาชิกแต่ละคนตั้งแต่ตั้งกองทุนเท่ากับ 7.04 %ต่อปี ซึ่งยังสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยที่ 3.26 % ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์เฉลี่ยที่ 2.06 % ต่อปี
สำหรับมูลค่าเงินลงทุนของ กบข. ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าลดลงเป็นจำนวนมากนั้น กบข. ขอชี้แจงว่าการลดลงดังกล่าวมีสาเหตุเกิดจากการขาย และไถ่ถอนตามกำหนดอายุของตราสารหนี้สถาบันการเงิน ตราสารหนี้บริษัทเอกชน และการขายหุ้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในช่วงที่เศรษฐกิจมีสภาวะชะลอตัว โดยนำเงินจำนวนดังกล่าวไปซื้อตราสารหนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การลดลงยังมีสาเหตุจากการที่ราคาหลักทรัพย์ที่ถือครองอยู่ปรับลดลงตามภาวะตลาดที่เกิดขึ้น ซึ่งยังมิได้มีการขายออกแต่อย่างใด เนื่องจาก กบข. เห็นว่าหลักทรัพย์ดังกล่าวยังคงมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี และมีแนวโน้มที่ราคาหลักทรัพย์นั้น ๆ จะปรับตัวสูงขึ้น หากภาวะเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นในอนาคต
สำหรับประเด็นเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทแห่งหนึ่งในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์นั้น กบข. ขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงกับสมาชิกว่า ในการตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์ตราสารทุนนั้น กบข. จะพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานของหลักทรัพย์แต่ละตัวประกอบกับราคาหลักทรัพย์ในขณะนั้น กล่าวคือ กบข. จะทำการขายหลักทรัพย์เมื่อเห็นว่าราคาหลักทรัพย์นั้นสูงกว่าราคาปัจจัยพื้นฐานที่ควรจะเป็น ในทางกลับกัน กบข. จะซื้อหลักทรัพย์เมื่อ เห็นว่า ราคาหลักทรัพย์นั้นต่ำกว่าราคาพื้นฐาน ดังจะเห็นได้จากการที่ กบข. ได้ทำการซื้อขายหุ้นธนาคารพาณิชย์ และหุ้นอสังหาริมทรัพย์ ในปี 2551 โดยมีราคาซื้อเฉลี่ยที่ต่ำกว่าราคาขายโดยเฉลี่ย
ทั้งนี้ ทางกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการมีเป้าหมายที่จะบริหารเงินลงทุนให้มีความมั่นคง และมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อสมาชิกในระยะยาว เพื่อให้สมาชิกมีเงินเพียงพอต่อการเกษียณอายุในอนาคต
ยุวพร นนท์ภาษโสภณ ( เชอร์รี่ )
กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ( กบข.)
Government Pension Fund
Tel. 02-636-1000 Ext.263 , 01-612-2322
Fax. 02-636-1691