กรุงเทพฯ--16 ก.ย.--ปภ.
นายสุนทร ริ้วเหลือง อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสถานการณ์พายุดีเปรสชั่น เมื่อเวลา 06.00 น. (วันที่ 15 ก.ย. 48) พบว่า มีศูนย์กลางฯ อยู่บริเวณชายแดนจังหวัดกาญจนบุรี กับประเทศพม่า ซึ่งได้อ่อนกำลังลงแล้ว ซึ่งภายหลังจากพายุดีเปรสชั่นได้เคลื่อนตัวผ่านประเทศไทย ทำให้เกิดฝนตกเป็นบริเวณกว้าง และมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ในหลายพื้นที่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคใต้ตอนบน ซึ่งทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้น ช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ จ. นครราชสีมา และภาคตะวันออก ได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม จากปริมาณฝนที่ตกลงมามากอย่างต่อเนื่องตลอดตั้งแต่คืนวันที่ 13 ก.ย. 48 ถึง รุ่งเช้าวันที่ 15 ก.ย.48 ทำให้เกิดน้ำท่วมใน 18 จังหวัด ดังนี้ สิงห์บุรี น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มของ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.อินทร์บุรี และ อ.พรหมบุรี, พระนครศรีอยุธยา น้ำท่วมในพื้นที่ อ.อุทัย อ.เสนา อ.เมืองฯ และมีน้ำท่วมขังบริเวณวัดไชยวัฒนาราม, อ่างทอง น้ำท่วมพื้นที่ลุ่มและพื้นที่การเกษตรของ อ.วิเศษชัยชาญ อ.ไชโย และอ.เมือง, ลพบุรี น้ำท่วมขังในเขตเทศบาลเมือง สูงประมาณ 0.10 — 0.50 ม.และบริเวณถนนพหลโยธินเป็นช่วงๆ, สุพรรณบุรี น้ำท่วมพี้นที่การเกษตรของ อ.สามชุก อ.ศรีประจันต์ อ.อู่ทอง อ.เมืองฯ และมีน้ำท่วมขังในเขตเทศบาลบริเวณสนามกีฬากลางของจังหวัด, ชัยนาท น้ำท่วมขังใน อ.สรรพยา , กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีน้ำท่วมขังตามถนนในซอยและชุมชนหมู่บ้านต่างๆ ทำให้การจราจรติดขัด , นครสวรรค์ น้ำท่วมขังที่ อ.ตากฟ้า บ้านมะขามงาม, ตาก น้ำท่วมพื้นที่การเกษตรของ อ.สามเงา, เชียงใหม่ น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มของ อ.สันกำแพง อ.สันทราย อ.เมือง แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตร ซึ่งพบว่าระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง, ลำปาง น้ำท่วมพื้นที่ อ.แม่ทะ อ.แม่เมาะ อ.เมือง อ.เกาะคา อ.ห้างฉัตร อ.แจ้ห่ม อ.สมปราบโดยท่วมเฉพาะพื้นที่การเกษตร,บุรีรัมย์ น้ำท่วมพื้นที่ อ.โนนสุวรรณ อ.นาโพธิ์ ประชาชนเดือดร้อน 658 ครอบครัว ถนนเสียหาย 6 สาย, ชลบุรี น้ำท่วมขังในพื้นที่ อ.บ้านบึง กิ่งอ.เกาะจันทร์ และอ.ศรีราชา, ฉะเชิงเทรา น้ำท่วมพื้นที่ อ.เมืองฯ อ.แกลง อ.ปลวกแดง และกิ่ง อ.เขาชะเมา , จันทบุรี น้ำท่วม อ.มะขาม และกิ่ง อ.แก่งหางแมว และตราด ได้สั่งการให้เรือเฟอรรี่ที่จะเดินทางไปเกาะช้างหยุดให้บริการ จนกว่าคลื่นลมในทะเลจะเป็นปกติ
นายสุนทร กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือว่า กรมป้องกันฯ ได้สั่งการให้ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต
สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งระดมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นการเร่งด่วนในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว เช่น นำเครื่องสูบน้ำไปสูบน้ำ , ระบายน้ำในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง จัดเรือท้องแบน ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตลอดจนนำเครื่องจักรกลไปปรับเกลี่ยผิวจราจรที่ได้รับความเสียหาย ให้สามารถใช้สัญจรไปมาได้ตามปกติ และนำถุงยังชีพไปแจกจ่ายให้แก่ผู้ประสบภัย ส่วนมูลค่าความเสียหาย อยู่ในระหว่างสำรวจความเสียหาย ขณะที่แนวโน้มของน้ำท่วม คาดว่า หากไม่มีฝนตกลงมาซ้ำอีก ระดับน้ำน่าจะลดลงภายใน 1 — 2 วันนี้ อย่างไรก็ตาม เพื่อความไม่ประมาท กรมป้องกันฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัย การเพิ่มระดับน้ำใน ลำน้ำสายต่างๆ อย่างใกล้ชิดแล้ว รวมถึงได้ตรวจสอบสภาวะอากาศอย่างต่อเนื่อง หากพบพายุดีเปรสชั่นระลอกใหม่ หรือร่องฝนเคลื่อนตัวผ่านพื้นที่ใด จักได้แจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ให้เตรียมพร้อมระวังภัยน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ตลอดเวลา--จบ--