พรพ. จัดการประชุมวิชาการ HA National Forum ครั้งที่ 10 ‘Lean & Seamless Healthcare’

ข่าวทั่วไป Tuesday March 17, 2009 12:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--G Commuinations สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.) จัดการประชุมวิชาการประจำปีระดับชาติ การพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล หรือ HA National Forum ครั้งที่ 10 ภายใต้ หัวข้อหลักของการประชุม ‘Lean & Seamless Healthcare’ เพื่อเป็นเวทีแห่งการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ จุดประกายการพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้สามารถตอบสนองปัญหาสุขภาพของประชาชนได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันตลอดจนเชิดชูผู้ประสบความสำเร็จ เมื่อเร็วๆนี้ ณ ศูนย์ประชุมอิมแพ็ต เมืองทองธานี สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ.) ในฐานะผู้ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพของโรงพยาบาลด้วยกระบวนการ HA ได้จัดเวทีเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลากว่าสิบปี เพื่อสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ และนำผลจากการเรียนรู้ไปสร้างระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ ปลอดภัย น่าไว้วางใจ มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ สำหรับหัวข้อหลักของการประชุม HA National Forum ครั้งนี้คือ Lean & Seamless Healthcare แนวคิดที่เน้นคุณค่าในมุมมองของผู้รับผลงานคนสุดท้ายไปไกลกว่าความพึงพอใจ ไกลกว่ามาตรฐานวิชาชีพ ก้าวข้ามการแยกส่วนในองค์กรและระหว่างองค์กร เพื่อเป็นการยกระดับสถานะสุขภาพของผู้รับบริการไปสู่สภาวะที่ใกล้เคียงกับอุดมคติให้มากที่สุด โดยไม่มีความล่าช้าและขจัดความสูญเปล่า ตั้งแต่ผู้ป่วยเกิดอาการเจ็บป่วยจนกระทั่งได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที นพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล ได้อธิบายแนวคิดหลักของการประชุมเพิ่มเติมว่า Lean มีความหมายว่า production without waste สำหรับการนำ Lean มาใช้ในบริการสุขภาพ นอกเหนือจากการมุ่งขจัดความสูญเปล่า เพื่อให้บริการผู้ป่วยได้ดีขึ้นแล้ว ยังเน้นการเรียนรู้กระบวนการทำงาน ด้วยการเข้าไปสังเกตขั้นตอนการปฏิบัติงานในสถานที่จริง ก่อนที่จะมาวิเคราะห์สาเหตุและหาทางปรับปรุง Seamless แปลตามตัวอักษรว่า “ไร้ตะเข็บ” หรือไร้รอยต่อ คือการเชื่อมต่อกันจนมองไม่เห็นรอยต่อหรือตะเข็บ ระบบบริการที่เชื่อมต่อกันจนไม่เห็นรอยต่อคือความเป็นหนึ่งเดียวของระบบ จะเกิดขึ้นได้เมื่อผู้ที่เกี่ยวข้องใช้มุมมองใหม่ๆ ในการทำงาน อย่างน้อยคือการมองประโยชน์ต่อผู้รับผลงานเป็นตัวตั้ง “หาก Lean ทำให้เรามุ่งเน้นที่การขจัดความสูญเปล่า หรือการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ ซึ่งดูเหมือนจะมุ่งเน้นที่การปรับปรุงภายในองค์กร และ Seamless คือการสร้างระบบเชื่อมต่อระหว่างองค์กร หรือภาคส่วนต่างๆ อะไรคือตัวร่วมหรือตัวเชื่อมระหว่างแนวคิดทั้งสองเรื่อง คำตอบอยู่ที่การเน้นคุณค่าที่มีความสำคัญต่อผู้ป่วย ซึ่งเป็นการทำให้แนวคิดเรื่องผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางมีความชัดเจนยิ่งขึ้น” นพ.อนุวัฒน์ กล่าว โดยในการประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญหลากหลายท่านมาบรรยายพิเศษ อาทิ ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล เรื่อง “ระบบสุขภาพไร้รอยต่อ” วิธีการจัดการเพื่อลดปัญหาการใช้เวลาอย่างสูญเปล่า เช่น ใช้วิธีการสื่อสารสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชน การจัดทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อให้ได้บริการที่มีคุณภาพ แก้ปัญหาแพทย์ที่ไม่เพียงพอ โดยใช้พยาบาลดูแลผู้ป่วยในเวรดึกการจัดทำ guideline เตรียมแพทย์พร้อมใก้คำปรึกษาเมื่อมีปัญหาและการทบทวนในตอนเช้าโดยแพทย์ การรับส่งต่อระหว่างโรงพยาบาล การจัดการให้การบริการเป็นไปตามความรู้ที่ทันสมัย เช่นการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน การบริการ fast tract สำหรับ Acute myocardial infarction และ stork เป็นต้น “เส้นทางสู่องค์กรที่เป็นเลิศ : เรียนรู้จากแชมป์” โดย รศ.นพ.สุเมธ พีรวุฒิ จากโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ มีการพัฒนาและบริหารที่หลากหลายมาตั้งแต่ปี 2525 จนผ่านการรับรองคุณภาพ HA โดยเน้นแนวคิด คือ การกำหนดยุทธศาสตร์ต้องมีการวิเคราะห์ปัจจัยสิ่งแวดล้อมให้ครบถ้วน เพื่อที่จะสามารถวางแผนและกำหนดตัวบ่งชี้ เพื่อประเมินและติดตามได้อย่างตรงเป้าหมาย จากนั้นต้องสื่อสารถ่ายทอดยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ โดยเน้นการสื่อสารสองทาง เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ กำหนดแผนที่สอดคล้องต่อเป้าหมายโรงพยาบาล และพยายาม ปรับระบบให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ นอกจากนี้องค์การต้องให้ความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรเท่ากับการพัฒนาองค์กร สร้างความผูกพันต่อองค์การและความเป็นธรรม เช่น การมอบอำนาจในการตัดสินใจ การจ่ายค่าตอบแทนที่เหมาะสมต่อภาระงานและความสามารถพิเศษ การสนับสนุนให้บุคลากรได้รับการฝึกอบรมที่จำเป็น และท้ายสุดการมุ่งเน้นลูกค้า หลักสำคัญคือต้องรู้จักลูกค้าก่อน เพื่อให้สามารถกำหนดช่องทางในการสื่อสารและการตอบสนองต่อความต้องการ การจัดทำ customer profile การสร้างระบบ fast track เพื่อขจัดปัญหาได้อย่างรวดเร็ว เป็นต้น สุดยอด CEO กับ ดร.ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานการกรรมการบริหารบริษัท ซี.พี. ออลล์ จำกัด (มหาชน) ด้วยวิธีการบริหารพัฒนาองค์กรที่ได้ทั้งงานและได้ใจพนักงานไปพร้อมๆกัน ซึ่งงานนี้ ดร.ก่อศักดิ์ ให้ข้อคิดสำหรับผู้บริหารที่ดีไว้หลายข้อด้วยกัน คือ ต้องมีความจริงใจ ไม่ถือศักดินา ใช้ปิยะวาจา ไม่หลงอำนาจ กล้าตัดสินใจ มีเมตตา มีความยุติธรรม เป็นตัวอย่างที่ดีของพนักงาน และที่สำคัญต้องมีใจเปิดกว้างให้พนักงานระดับกลางและล่างสามารถเสนอความคิดเป็นอิสระ หลักปฏิบัติง่ายๆเหล่านี้นี่เอง จะนำไปสู่การทำงานที่เป็นทีมและประสบความสำเร็จในที่สุด ในทุกปีที่ผ่านมา การประชุม HA National Forum มีบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ที่เข้มข้น เนื่องจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอผลงานจากโรงพยาบาลต่างๆ ในปีนี้ก็เช่นเดียวกัน ผู้มีประสบการณ์และบทเรียนต่างๆ ต่างเข้าร่วมนำเสนอผลงานในรูปแบบของการนำเสนอนิทรรศการ และ Oral Presentation โดย พรพ. ได้จัดสรรพื้นที่นำเสนอสำหรับเรื่องที่ผ่านการคัดเลือกจากศูนย์ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล (HACC) ให้มากกว่าปีที่ผ่านๆ มา ดังคำกล่าวที่ว่า ความรู้ ยิ่งให้ยิ่งงอกงาม ทั้งนี้โดยมีการรับรอง HA เป็นการเชิดชูเกียรติและประกาศเกียรติยศให้แก่โรงพยาบาลที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพ เสมือนเป็นรางวัลแห่งความสำเร็จ โดยในปียี้มีโรงพยาบาลที่ได้รับใบรับรองทั้งหมด 161 โรง และมีผู้เข้าร่วมการประชุมซึ่งประกอบไปด้วย ผู้บริหารหน่วยงานและผู้ประกอบวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล อาทิ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักเทนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด ฯลฯ จากโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ กว่า 8,000 คน สำหรับประเทศไทยระบบการรับรองคุณภาพโรงพยาบาลถูกนำมามาศึกษาวิจัยตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 โดยจัดทำมาตรฐานโรงพยาบาล ทดลองนำไปปฏิบัติ เรียนรู้กระบวนการ สำรวจ และพร้อมให้โรงพยาบาลเอกชนเข้าร่วมได้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 เป็นต้นมา สถาบันพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล (พรพ. ; HA Thailand) จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญติสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขและข้อเสนอของภาคีพัฒนาและรับรองคุณภาพของโรงพยาบาล โดยพัฒนาและปรับรูปแบบมาจากโครงการพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล โรงพยาบาลที่จะได้รับการรับรองคุณภาพจะต้องมีกิจกรรมหลัก ๆ อยู่ 3 ขั้นตอน คือ การพัฒนาคุณภาพ ,การประเมิณคุณภาพ และการรับรองคุณภาพ ซึ่ง หากโรงพยาบาลได้มีการดำเนินการพัฒนาคุณภาพเป็นไปตามเกณฑ์ ของมาตรฐานที่ได้จัดทำไว้ ก็จะได้รับการรับรองจากสถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล โดยการรับรองในครั้งแรกจะมีอายุ การรับรอง 2 ปี หลังจากนั้นโรงพยาบาลจะต้องขอการรับรองใหม่ ภายในงานนอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัล Humanized Healthcare Award ครั้งที่ 2 ให้กับโรงพยาบาลที่มีจิตใจโอบอ้อมอารี กับผู้ป่วยอีกด้วย ซึ่งปีนี้มีโรงพยาบาลที่ได้รับรางวัลนี้ทั้งหมด 12 โรง คือ โรงพยาบาลสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์, โรงพยาบาลประทาย จังหวัดนครราชสีมา, โรงพยาบาลเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี, โรงพยาบาลป่าแดด จังหวัดเชียงราย, งานการพยาบาลอยุรศาสตร์ — จิตเวชศาสตร์ ศิริราชพยาบาล, คลินิกเด็กติดเชื้อ งานผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา, งานผู้ป่วยนอก สถาบันพัฒนาการเด็กราชนคริทร์ จังหวัดเชียงใหม่, กลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และหอผู้ป่วยจิตเวชหญิง โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จังหวัดอุบลราชธานี, ศูนย์เตรียมความพร้อมผู้ป่วยใน โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี, หอผู้ป่วยศัลยกรรมอุบัติเหตุ โรงพยาบาลสงขลา จังหวัดสงขลา, โรงพยาบาลบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี และทีมดูแลผู้ป่วยเอดส์ สถาบันบำราศนราดู จังหวัดนนทบุรี และรางวัลเกียรติยศอารี — สมสวาท รางวัลสำหรับบุคคลที่มีผลงานด้านการแพทย์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ และพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพดีเด่น คือ นพ.นิวัฒน์ชัย นามวิชัยศิริกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประทาย จังหวัดนครราชสีมา สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 026670174 G Commuinations

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ