กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--เกรียวกราวพลัส
สถาบันส่งเสริมอัจฉริยภาพและนวัตกรรมการเรียนรู้ (สสอน.) หน่วยงานเฉพาะด้านของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) (องค์การมหาชน) สำนักนายกรัฐมนตรี จัดประชุมชี้แจงนโยบายทิศทางและสัมมนาเชิงปฏิบัติการแก่ผู้บริหาร ครูประจำศูนย์เสาะหาและพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษในท้องถิ่นหรือศูนย์จีทีเอ็กซ์ (Gifted and Talented Exploring Center: GTX) และตัวแทนภาคีเครือข่ายกว่า 200 คน เมื่อวันที่ 16 มีนาคม โรงแรมมิราเคิล แกรนด์
พลเรือเอกฐนิธ กิตติอำพน รักษาการอำนวยการ สสอน. เปิดเผยว่า “สสอน. ดำเนินการตั้งศูนย์จีทีเอ็กซ์ เพื่อค้นหาและพัฒนาเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่ระดับนานาชาติติดต่อกันมาเป็นปีที่ 4 โดยจนถึงปี 2550 สสอน. มีศูนย์จีทีเอ็กซ์ 42 ศูนย์ ใน 21 จังหวัด และตั้งเป้าว่าภายในปี 2552 จะดำเนินการจัดตั้งให้แล้วเสร็จเพิ่มขึ้นอีก 19 ศูนย์ ใน 19 จังหวัด เพื่อขยายพื้นที่บริการของศูนย์จีทีเอ็กซ์เป็น 61 ศูนย์ ใน 40 จังหวัด ซึ่งจะดำเนินการเสาะหาและส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนสามารถพัฒนาความสามารถพิเศษของตนอย่างเต็มศักยภาพ 8 ด้านหลัก ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาและวรรณกรรม ศิลปะ ดนตรี กีฬา สังคมศาสตร์และความริเริ่มสร้างสรรค์”
“โดยตลอด 4 ปี สามารถค้นพบเด็กและเยาวชนผู้มีความสามารถพิเศษที่โดดเด่นจำนวนทั้งสิ้น 304 คน จากจำนวนเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมการทดสอบตามมาตรฐานทางวิชาการในด้านต่างๆ จำนวน 89,000 คน และผ่านเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกและเข้าร่วมกิจกรรมค่ายเฉพาะทางและค่ายทั่วไปประมาณ 3,647 คน ก่อนคัดกรองอีกครั้งหนึ่งกระทั่งได้ตัวเลขดังกล่าว ซึ่งกลุ่มเด็กที่มีความสามารถพิเศษโดดเด่นที่ศูนย์จีทีเอ็กซ์ค้นพบนั้น จะได้รับการพัฒนาต่อยอดไปสู่ระดับที่สูงขึ้น เช่น การเข้าร่วมโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพในสาขาต่างๆ ตามมหาวิทยาลัยชั้นนำต่อไป” พลเรือเอกฐนิธกล่าว
พลเรือเอกฐนิธกล่าวต่อไปว่า “กระบวนการสำคัญที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการค้นพบเพชรที่พร้อมจะได้รับการเจียระไนจากท้องถิ่นแล้วคือ คณะผู้บริหารโรงเรียนและครูประจำศูนย์จีทีเอ็กซ์ทุกศูนย์ ได้รับการเติมเต็มองค์ความรู้ต่างๆ ที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับเด็กที่มีความสามารถพิเศษ องค์ความรู้เกี่ยวกับ Brain-based Learning องค์ความรู้เกี่ยวกับสื่อการเรียนรู้และศูนย์ GTX ทักษะการจัดกระบวนการเรียนรู้ องค์ความรู้และทักษะการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ บทบาทและภารกิจของครูศูนย์ GTX ซึ่งทำให้ครูมีขีดความสามารถเพิ่มมากขึ้นในการดำเนินงานจัดการเรียนรู้ และสามารถจุดประกายความคิดที่สร้างสรรค์ให้แก่เด็กและเยาวชนผู้มีความสามารถพิเศษภายในศูนย์จีทีเอ็กซ์ได้”
“...นอกจากนี้ยังเกิดกลไกในการทำงานส่งเสริมและพัฒนาด้านการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษร่วมกันอย่างยั่งยืนระหว่างหน่วยงานหลัก คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ผู้บริหารสถานศึกษา ทั้งนี้ เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุดกับเด็กและเยาวชน ท้องถิ่น สังคม และประเทศชาติต่อไป” พลเรือเอกฐนิธกล่าวทิ้งท้าย
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
คุณอาภาภรณ์ กิจศิริ 085-5699689
คุณวันนิษา โพธิ์ศรี 089-8995154