กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--เวิรฟ
TCDC ระดมขุนพลเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่วมงานสัมมนา Creative Thailand: สร้างเศรษฐกิจไทยด้วยความคิดสร้างสรรค์ แนะทางรอด...สร้างทางเลือกผลักดันเศรษฐกิจไทยสู้ภัยวิกฤติเศรษฐกิจโลก
ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เดินหน้ากระจายองค์ความรู้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) สู่ภาคประชาชน มั่นใจเป็นหนึ่งยุทธศาสตร์หลักกู้วิกฤติเศรษฐกิจชาติ เชิญผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในและต่างประเทศ ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ พร้อมสร้างความเข้าใจในงานสัมมนา “Creative Thailand: สร้างเศรษฐกิจไทยด้วยความคิดสร้างสรรค์ ตอน“ทางรอด...ทางเลือก”
นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เปิดเผยว่า “แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy คือแนวคิดของเศรษฐกิจระบบใหม่ที่ทุกภาคส่วนในสังคมไทยควรให้ความสนใจ เนื่องด้วยแนวคิดเศรษฐกิจดังกล่าวมีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของโลกในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก สังเกตได้จากวิถีชีวิตของมนุษย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตามกระแสความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการสื่อสารที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ส่งผลให้ผู้บริโภคมีช่องทางในการมองหาสิ่งใหม่ที่ก้าวล้ำไปจากการใช้งานปกติทั้งในด้านของความสวยงามและการตอบสนองความต้องการเฉพาะด้านมากขึ้น ดังนั้น Creative Economy จึงได้พัฒนาความสำคัญก้าวขึ้นเป็นยุทธศาสตร์หลักในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจไทยให้มีความสมดุลและยั่งยืนต่อไป
นายอภิสิทธิ์ กล่าวเสริมว่า แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy จะถูกนำมาทดแทนระบบการผลิตแบบ Mass Production ที่เน้นการผลิตสินค้าจำนวนครั้งละมากๆ กระทั่งเกินความต้องการของผู้บริโภค ทั้งนี้ แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะผสมผสานวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี เข้าไว้ด้วยกัน เกิดเป็นอุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ที่มีความสำคัญในการวางรากฐานความมั่งคั่งให้กับประเทศ ปัจจุบันแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์คือปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้อุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์มีอัตราการเจริญเติบโตรวดเร็วที่สุดในหลายประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ สหภาพยุโรป ซึ่งมีอัตราการขยายตัว ร้อยละ 12 ซึ่งสูงกว่าเศรษฐกิจโดยรวม และมีอัตราการจ้างงานประมาณ 4.7 ล้านคนในปี 2547 เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย การกำหนดกรอบนโยบายด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์อาจจะยังไม่มีความเป็นเอกภาพมากนัก อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้มีการพัฒนาขึ้นอีกระดับ ในการจัดหมวดหมู่สาขาต่างๆ ซึ่งมีพื้นฐานจากความคิดสร้างสรรค์ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและบริการ โดยสำนักบัญชีประชาชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็นจำนวน 9 กลุ่ม ดังนี้ งานฝีมือและหัตถกรรม (Crafts) งานออกแบบ (Design) แฟชั่น (Fashion) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film & Video) การกระจายเสียง (Broadcasting) ศิลปะการแสดง (Performing arts) ธุรกิจโฆษณา (Advertising) ธุรกิจการพิมพ์ (Publishing) สถาปัตยกรรม (Architecture) และจากข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ประจำปี 2549 พบว่ามูลค่าของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของกลุ่มดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 10.83 ต่อ GDP โดยมีมูลค่ารวมประมาณ 848,000 ล้านบาทอีกด้วย ตอกย้ำความเชื่อมั่นว่าหากมีการนำแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไปปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรม จะสามารถยกระดับขีดความสามารถเศรษฐกิจไทยให้รอดพ้นวิกฤติเศรษฐกิจโลกได้อย่างแน่นอน
“ในฐานะที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางความรู้ด้านความคิดสร้างสรรค์และงานออกแบบนั้น พร้อมที่จะตอกย้ำความสำคัญของแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์อีกครั้ง ในงานสัมมนา “Creative Thailand: สร้างเศรษฐกิจไทยด้วยความคิดสร้างสรรค์ ตอน “ทางรอด...ทางเลือก” เพื่อสานต่อและกระตุ้นความสนใจของหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการ และผู้เกี่ยวข้องให้เห็นความสำคัญและเข้าใจถึงทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นกลไกผลักดันให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันและยืนหยัดได้ในตลาดโลกต่อไป” นายอภิสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย
การสัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากบุคคลผู้มีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์เข้าร่วมบรรยาย อย่างคับคั่ง โดยดร. วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติกล่าวเปิดสัมมนาในหัวข้อ “ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยความคิดสร้างสรรค์” พร้อมรับฟังการสัมมนาเรื่อง สร้างเศรษฐกิจไทย ด้วยความคิดสร้างสรรค์: Facing the Challenges โดย ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการบริหารสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหารบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ดร.ปรเมธี วิมลศิริ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) และในภาคบ่าย มร. จอห์น นิวบิกิน ผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรด้านการพัฒนาระบบเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ประเทศอังกฤษ จะบรรยายพิเศษในหัวข้อ “นโยบายแห่งชาติสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศอังกฤษ” ปิดท้ายด้วย มิสเอ็ดน่า ดอส ซานโตส ดุยเซ็นเบิร์ก ประธานคณะทำงานด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของอังค์ถัด (UNCTAD) บรรยายในหัวข้อ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์จากการศึกษาของอังค์ถัด”
สำหรับท่านที่สนใจเนื้อหาและข้อมูลของงานสัมมนา “Creative Thailand: สร้างเศรษฐกิจไทยด้วยความคิดสร้างสรรค์ ตอน “ทางรอด...ทางเลือก (Facing the Challenges)” สามารถติดตามได้ใน www.tcdc.or.th และ www.creativethailand.org เร็วๆ นี้
เกี่ยวกับ TCDC
ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center: TCDC) ก่อตั้งเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2547 เป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (Office of Knowledge Management and Development: OKMD) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเป็นศูนย์กลางความรู้ด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ให้กับสังคมไทย โดยผ่านกระบวนการให้ความรู้ความเข้าใจแบบสากล
TCDC: แหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต
TCDC เปรียบเหมือน “มหรสพทางปัญญา” ที่จะจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และกระตุ้นให้คนไทยตระหนักถึงคุณค่าของงานออกแบบ โดยผ่านกระบวนการให้ความรู้ ความเข้าใจแบบสากล ตั้งแต่การจัดนิทรรศการ การบรรยาย สัมมนาเชิงปฏิบัติการ ไปจนถึงการสร้างแหล่งค้นคว้า ซึ่งไม่เพียงให้ความรู้แต่ยังให้ความบันเทิงและประสบการณ์ที่นำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้รอบด้าน
TCDC มุ่งประสานความร่วมมือโดยตรงกับภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการ SMEs และช่างฝีมือ โดยจะสนับสนุนให้ตระหนักถึงคุณค่าของการนำดีไซน์มาใช้ในการสร้างมูลค่าให้แก่การผลิตสินค้า และบริการ และจะส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานดีไซน์ของนักออกแบบไทยให้เป็นที่รู้จักทั้งภายในและต่างประเทศรวมทั้งเปิดโอกาสให้นักออกแบบไทยได้มีช่องทางเติมความคิดสร้างสรรค์ของตนเองอย่างเป็นระบบ
TCDC ตั้งอยู่ที่ชั้น 6 ดิ เอ็มโพเรียม ช็อปปิ้ง คอมเพล็กซ์
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.tcdc.or.th
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC)
คุณกนกพร เกียรติศักดิ์ หรือคุณพัชรินทร์ พัฒนาบุญไพบูลย์
อาคารเอ็มโพเรียมทาวเวอร์ ชั้น 24 ถนนสุขุมวิท โทร. 0-2664-7667
เวิรฟ (Verve)
คุณตรึงฤทัย สันโดษ (โบว์) โทร. 02-204-8078 มือถือ 081-833-0224
คุณพรทิพย์ วิริยะกิจพัฒนา (บี) โทร. 02-204-8210 มือถือ 086-813-1981