กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์
นักโภชนาการเตือน ช่วงหน้าร้อนควรบริโภคอาหารอย่างระมัดระวัง เพราะเป็นช่วงที่มักพบการแพร่ระบาดของเชื้อโรคในอาหารมากกว่าฤดูอื่นๆ ทำให้อาหารเน่าเสียได้ง่าย หากไม่ระวังอาจเป็นโรคทางเดินอาหาร ท้องเสีย ท้องร่วงได้ นอกจากนี้ยังเตือนอย่ามองข้ามโรคไม่ระบาดอื่นๆ เกี่ยวกับการบริโภคอาหาร เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน มะเร็ง เป็นต้น ที่แฝงมากับอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล และไขมันที่หลายคนชอบรับประทานอีกด้วย
ดร.สุรพจน์ วงศ์ใหญ่ เตือนให้ประชาชนระมัดระวังในการเลือกบริโภคอาหารในหน้าร้อน เพื่อหลีกเลี่ยงโรคทางเดินอาหารที่มักพบว่ามีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคในอาหารมากกว่าฤดูอื่นๆ ทำให้อาหารเน่าเสียง่าย หากไม่ระวังอาจทำให้เกิดโรคระบาดทางอาหารและน้ำได้ เช่น อหิวาตกโรค อุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ เป็นต้น โดยอาจเกิดอาการ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ซึ่งความรุนแรงของอาการจะขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของเชื้อจุลินทรีย์ที่ได้รับ ดังนั้นก่อนบริโภคหรือซื้ออาหารสำเร็จมารับประทาน ควรระมัดระวังความปลอดภัยของอาหารทั้งความสะอาด ความสดใหม่ วัตถุดิบ กรรมวิธีการทำ หรือสังเกตุสี กลิ่น รสว่ามีการเน่าเสียหรือไม่
โดยมีวิธีลดความเสี่ยงโรคระบาดเหล่านี้ได้ด้วยการรับประทานอาหารสดใหม่ สุกทั่วถึง หลีกเลี่ยงอาหารประเภทยำเพราะจะบูดง่าย ไม่ซื้ออาหารสำเร็จมาทิ้งไว้นาน อุ่นอาหารก่อนรับประทาน และเลือกรับประทานอาหารที่ผ่านความร้อนทั่วถึง เช่น ประเภทแกง ต้ม ทอด เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องระวังเรื่องวัตถุดิบการปรุงอาหารและอุปกรณ์ในการทำว่ามีความสะอาดหรือไม่ ซึ่งเราอาจเลี่ยงได้โดยการทำอาหารรับประทานเอง แต่ด้วยยุคสมัยและการรับวัฒนธรรมการบริโภคของชาวตะวันตกทำให้คนส่วนใหญ่นิยมทานอาหารนอกบ้าน ทานอาหารสำเร็จรูป และอาหารฟาสฟู้ด ส่งผลให้เราเสี่ยงต่อโรคไม่ระบาดอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการบริโภคอาหารอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น โรคหัวใจ หลอดเลือด ภาวะไขมันในเลือดสูง มะเร็ง เบาหวาน เป็นต้น โดยโรคต่างๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัยและทุกฤดูกาลอีกด้วย
อาหารสำเร็จรูปและอาหารฟาสฟู้ดมักมีแป้ง น้ำตาล และไขมันเป็นส่วนประกอบหลัก จึงส่งผลทำให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูงและเกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายต่างๆ ตามมา โดยเฉพาะไขมันซึ่งเป็นส่วนประกอบในอาหารที่หลายคนนิยมรับประทานไม่ว่าจะเป็น อาหารทอด อาหารผัดน้ำมันท่วม เป็นต้น ซึ่งสามารถเลี่ยงได้ด้วยการใช้น้ำมันจากธรรมชาติ ที่มีกรดไขมันชนิดดีสูง ในวงการโภชนาการยอมรับกันว่าน้ำมันมะกอกของชาวเมดิเตอร์เรเนียนเป็นน้ำมันที่มีสัดส่วนของกรดไขมันชนิดต่างๆ ในปริมาณที่ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ล่าสุดวิทยาศาสตร์การอาหารพบว่า “น้ำมันเมล็ดชา” ก็มีคุณสมบัติที่ดีไม่ด้อยกว่าน้ำมันมะกอกเช่นกัน
คุณสมบัติพิเศษของน้ำมันเมล็ดชา คือ มีกรดไขมันอิ่มตัวต่ำ มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวในรูปของกรดโอเลอิกถึง 88% มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งในรูปของโอเมก้า 6 ประมาณ 13-28% และมีกรดโอเมก้า 3 ในรูปของกรดแอลฟาไลโนเลนิก ประมาณ 1-3% ไม่มีกรดไขมันทรานซ์ นอกจากนี้ยังมีวิตามินอีสูงเป็นสารต้านอนุมูลอิสระจึงช่วยยืดอายุการใช้งานของน้ำมันให้นานขึ้น อีกทั้งยังอุดมด้วยวิตามินเอ บี และดี และมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง คือสารแคททีชิน ซึ่งเป็นสารโพลีพีนอลที่ช่วยลดการออกซิเดชั่นของคอเลสเตอรอลตัวร้าย (LDL) จึงช่วยป้องกันหลอดเลือดตีบตัน และป้องกันการอักเสบของเนื้อเยื่อ ซึ่งน้ำมันเมล็ดชาสามารถทำอาหารได้หลากหลาย เช่น ทอด ผัด ผสมซอสหมักเนื้อ หรือทำน้ำสลัเป็นต้น
“อย่างไรก็ตามในการรับประทานอาหารทุกครั้ง โดยเฉพาะการเลือกรับประทานอาหารนอกบ้าน ควรระมัดระวังเลือกรับประทานอาหารที่ถูกสุขอนามัย สดใหม่ สะอาด และปลอดภัย หรือทำอาหารรับประทานเองเพื่อลดความเสี่ยงทั้งโรคระบาดในช่วงหน้าร้อน และโรคร้ายที่เกี่ยวกับการบริโภคอาหารที่แฝงมา เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดี และป้องกันโรคร้ายอื่นๆ ที่จะตามมา” ดร.สุรพจน์ กล่าวทิ้งท้าย
**** สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทร 0-2718-3800 ต่อ 132, 136