กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--กรีนพีซสากล
เดือนมกราคม 2551
กรีนพีซ ญี่ปุ่นได้เริ่มสำรวจข้อมูลจากคนที่รายงานการกระทำที่ไม่ถูกต้องและผิดจริยธรรม ซึ่งแจ้งว่าลูกเรือของฝูงเรือล่าวาฬของญี่ปุ่นได้ยักยอกเนื้อวาฬชั้นหนึ่งจำนวนมากมาเป็นเวลาหลายปี และนำไปขายเพื่อผลกำไรส่วนตัว โดยเจ้าหน้าที่ภาครัฐเพิกเฉยในกรณีนี้อย่างเห็นได้ชัด
ในวันที่ 16 เมษายน 2551
เจ้าหน้าที่สืบสวนของกรีนพีซนำกล่อง 1 ใน 4 กล่อง ที่น้ำหนักมาก ซึ่งจ่าหน้าถึงลูกเรือคนหนึ่งออกจากที่ทำการไปรษณีย์ โดยบนกล่องระบุว่ามีพัสดุประเภท “กระดาษแข็ง” ภายในกล่อง พวกเขาพบ “เบคอนเนื้อวาฬ หรือ “อันอีสึหมักเกลือ (salt-cured unesu)” 23.5 กิโลกรัม มูลค่าสูงสุด 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากนั้น คนที่รายงานการกระทำที่ไม่ถูกต้องผิดจริยธรรมได้มีหลักฐานมายืนยันโดยใช้วิธีการอื่นๆ อีก และในวันที่ 15 พฤษภาคม กรีนพีซ ญี่ปุ่นนำเสนอผลการสืบสวนในงานแถลงข่าว และส่งมอบกล่องใส่เนื้อวาฬให้แก่อัยการประจำกรุงโตเกียวเพื่อเป็นหลักฐานสำหรับดำเนินคดี
การสืบสวนที่ริเริ่มโดยอัยการกรุงโตเกียวถูกยกเลิกไปอย่างกะทันหันในวันที่ 20 มิถุนายน และในวันเดียวกันนั้น สำนักงานของกรีนพีซญี่ปุ่นและบ้านของเจ้าหน้าที่ 4 คน ถูกสืบค้นโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 40 นาย ท่ามกลางการจับจ้องของสื่อมวลชน ที่ได้รับแจ้งข้อมูลล่วงหน้า จุนนิชิ ซาโตะและโทรุ ซูซุกิ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กรีนพีซถูกจับกุมและกักขังเป็นเวลา 26 วัน ในช่วงนั้น พวกเขาถูกสอบสวนทุกวันๆ ละ 10 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ โดยถูกมัดไว้กับเก้าอี้ และไม่สามารถเข้าหาทนายซึ่งเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันทั่วไปในญี่ปุ่น การกระทำนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติอย่างต่อเนื่อง ท้ายที่สุด ทั้ง 2 คน ถูกจับกุมในข้อหาลักขโมยกล่องเนื้อวาฬและข้อหาบุกรุก และถูกปล่อยตัวโดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการประกันตัวอย่างเคร่งครัด การพิจารณาคดีคาดว่าจะเกิดขึ้นในศาลจังหวัดอาโอโมริในฤดูร้อนปี 2552 นี้ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ของรัฐยังได้เริ่มขั้นตอนทางกฎหมายแล้วซึ่งอาจนำไปสู่การปิดตัวของสำนักงานกรีนพีซญี่ปุ่น
เพื่อตอบโต้ข้อกล่าวหาของกรีนพีซ เกียวโด เซนปากุ ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินการฝูงเรือล่าวาฬของญี่ปุ่น ได้อ้างว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่พนักงานของบริษัทได้รับเนื้อวาฬส่วนหนึ่งเป็น “ของที่ระลึก” และซื้อเนื้อวาฬเหล่านั้นอย่างถูกกฎหมายมาจากสถาบันวิจัยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล (ICR) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับวาฬโดยใช้วิธีสังหาร บริษัทนี้ยังกล่าวอ้างอีกว่าเนื้อวาฬที่กรีนพีซช่วงชิงเอาไว้ ส่วนหนึ่งเป็นของขวัญที่ห่อรวมกันไว้สำหรับลูกเรือหลายคน อาซาฮี ชิมบุน หนังสือพิมพ์ชั้นนำอธิบายว่าคำกล่าวนี้เป็น “อุบายที่กุขึ้น” และเรียกร้องให้สืบสวนอย่างละเอียด กรีนพีซญี่ปุ่นใช้กฎหมายเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร โดยร้องขอสัญญาขายที่เกี่ยวข้องระหว่างบริษัทเกียวโด เซนปากุและ ICR และเอกสารที่แสดงการจ่ายเงินค่าเนื้อวาฬ ที่ซื้อไว้เพื่อมอบเป็น “ของที่ระลึก” ในขณะที่เอกสารบางฉบับได้รับการเปิดเผยแล้ว แต่เกือบทั้งหมดถูกปิดบังข้อเท็จจริง และไม่มีข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
ทีมงานทนายความตั้งใจที่จะนำเสนอหลักฐานการยักยอกจำนวนมากต่อศาล ซึ่งรวมถึงคำแถลงการณ์ของ “คนใน” 4 คน โดยเป็นส่วนหนึ่งของ “ความชอบธรรม” ต่อข้อกล่าวหาการขโมยและการบุกรุก นอกจากนี้ทีมงานทนายความจะโต้แย้งว่าการกระทำของจำเลยมีจุดประสงค์เพื่อเปิดโปงความผิด และกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงเรื่องการล่าวาฬเพื่อการวิจัย ซึ่งเป็นโครงการที่มีการอุดหนุนทางการเงินที่รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามอย่างมากที่จะแก้ต่างถึงความน่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์ ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติ ด้วยเหตุนี้การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเปรียบเสมือนการปฏิบัติตามสิทธิในการแสดงออก ซึ่งรวมถึงเสรีภาพในการ “สืบค้น” และ “รับรู้” ข้อมูล ตามปฏิญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิของพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติที่สำคัญ ที่ให้สัตยาบันโดยทั้งสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ผลประโยชน์ของสาธารณชนในการยินยอมให้องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรต่างๆ เปิดเผยข้อมูลที่ได้มาให้เป็นประจักษ์ ในบริบทนี้สำคัญกว่าผลประโยชน์ในการปกป้องทรัพย์สินส่วนบุคคล
เมื่อเดือนธันวาคม 2551 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้วิพากษ์ถึงการใช้อำนาจในทางที่ผิดของกฎหมายบุกรุกเพื่อยับยั้งการวิจารณ์รัฐบาล และเรียกร้องให้ญี่ปุ่น “ยกเลิกการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกโดยไร้เหตุผล และสิทธิในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะตามกฎหมายเพื่อป้องกันตำรวจ อัยการ และศาล ในการจำกัดกิจกรรมรณรงค์ทางการเมืองอย่างเกินควร” คดีนี้เปรียบเสมือนบททดสอบของความตั้งใจของรัฐบาลในการที่จะปฏิบัติเช่นนั้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
เกรก แมคเนวิน ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซสากล โทร +81 80 5416 6506
ธารา บัวคำศรี ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โทร 089-476-9977
วิริยา กิ่งวัชระพงศ์ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน โทร 089-487-0678