กรุงเทพฯ--18 เม.ย.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ประเดิมใช้แผนแม่บทพัฒนาตลาดทุนฉบับที่ 2 (2549-2553) กำหนดแผนปฏิบัติงานของ หน่วยงานต่างๆ ภายใต้วิสัยทัศน์ในการสร้างเสถียรภาพของตลาดทุนเพื่อสนับสนุนความสามารถในการแข่งขัน และ ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ตั้งเป้าหมายเชิงปริมาณเป็นแหล่งระดมทุนสำคัญเทียบเคียงเสาหลักระบบธนาคารพาณิชย์
แผนแม่บทพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับที่ 2(2549-2553) ร่างขึ้นภายใต้ความร่วมมือของคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยผู้แทนขององค์กรเอกชนต่างๆในสภาธุรกิจตลาดทุนไทยและผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐเพื่อกำหนดการปฏิบัติงานของหน่วยงานต่างๆ โดยมีการยกร่างแผนแม่บทฯ ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2548 โดยผ่านกระบวนการรับฟังข้อเสนอและความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 จากแผนแม่บทพัฒนาตลาดทุนฉบับที่ 1 (2545-2548) ซึ่ง
มุ่งเน้นกระตุ้นความสนใจต่อตลาดทุนทั้งในเชิงปริมาณและมูลค่าเพื่อให้เกิดสภาพคล่องขึ้นในตลาดทุนรวมถึงการพยายามสร้างมาตรฐานธรรมาภิบาลที่ดีในการดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนซึ่งได้บรรลุเป้าหมายในระดับหนึ่งแล้ว ในระยะถัดไปเป้าหมายสำคัญของแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 2 คือ การยกระดับความสามารถของตลาดทุนในการสนับสนุนการระดมทุนและการทำหน้าที่เพิ่มทางเลือกของการออมในมาตรฐานที่สูงขึ้นเพื่อเป้าหมายที่ไม่ใช่เพียงเพิ่มมูลค่ารวมแต่ให้มีเสถียรภาพของราคาและมีระดับราคาหรือมูลค่าที่สมบูรณ์ (Stability and full valuation) โดยอาจกล่าวได้ว่าแผนแม่บทฯฉบับที่ 2 นี้ มุ่งเน้นเป้าหมายเชิงปริมาณควบคู่ไปกับเป้าหมายเชิงคุณภาพและเน้นให้เกิดสมดุลระหว่างตลาดตราสารประเภทต่าง ๆ
ดร. ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดทำแผนแม่บทในครั้งนี้ว่า “ในขณะนี้ แผนแม่บทพัฒนาตลาดทุนไทยฉบับที่ 2 ได้จัดทำเสร็จสมบูรณ์แล้ว หลังจากที่คณะทำงานยกร่างฯ ได้พิจารณาปรับปรุงเนื้อหา จากนั้นจะนำแผนแม่บทฉบับดังกล่าวเสนอต่อกระทรวงการคลังต่อไป ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดทำแผนปฏิบัติการและจะเริ่มดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้ทันที โดยสภาธุรกิจตลาดทุนไทย จะทำหน้าที่ติดตามรายงาน
ผลการดำเนินงานของสมาชิกในสภาธุรกิจตลาดทุนไทยเป็นรายไตรมาส เริ่มตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปีนี้”
“สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ตระหนักถึงความสำคัญในการดำเนินงานตามแผนแม่บทที่กำหนดไว้ โดยสมาชิกสภาฯ ทั้ง 6 องค์กร ได้แก่ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ สมาคมบริษัทจดทะเบียน สมาคมบริษัทจัดการลงทุน สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย และตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมเดินหน้าปฏิบัติงานตามแผนงานที่กำหนดไว้ทันที เพื่อให้ทุกองค์กรมีความเข้มแข็ง เตรียมพร้อมปฏิบัติงานภายใต้สถานการณ์การแข่งขันในปัจจุบันและแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการเปิดเสรีภาคบริการทางการเงินที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุน”
สรุปแนวทางหลักในการพัฒนาตลาดทุนไทย 7 ประการ
1. ตลาดตราสารทุน ขยายขนาดของตลาด เพิ่มอุปทานของตราสารทุนของกิจการที่มีขนาดใหญ่ควบคู่ไปกับการสนับสนุนให้กิจการขนาดกลางและขนาดย่อมเข้าสู่ระบบของการเป็นบริษัทจดทะเบียนโดยมุ่งเพิ่มผู้ลงทุนสถาบันในประเทศ (จากประมาณร้อยละ 10 ในปัจจุบัน) ให้มีสัดส่วนถึงร้อยละ 20 ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับผู้ลงทุนสถาบันในตลาดต่างประเทศและจะทำให้สัดส่วนผู้ลงทุนสถาบันต่อผู้ลงทุนบุคคลเป็น40-60 ซึ่งเป็นระดับที่มีความสมดุลของสภาพคล่องและเสถียรภาพราคา ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเมื่อเทียบกับผลกำไรโดยรวม (market P/E) มีระดับที่สูงขึ้น โดยมีมาตรการหลัก เช่น ดำเนินการร่วมกับ บจ.รายบริษัท เพื่อยกระดับ P/E โดยการทำงานร่วมกับ บจ. อย่างมีเป้าหมาย การส่งเสริมการออมผ่านกองทุนรวม เป็นต้น
2. ตลาดตราสารหนี้ เร่งขยายขนาดตลาดให้มีขนาดทัดเทียมกับตลาดเงินโดยเพิ่มอุปทานของตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชนรวมทั้งตราสารหนี้ของผู้ออกตราสารต่างประเทศพร้อมกับ ส่งเสริมการลงทุนของผู้ลงทุนบุคคล โดยกำหนดแนวทางด้านภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจให้บุคคลธรรมดาซื้อขายตราสารหนี้ได้คล่องตัวขึ้น โดยอาศัยมาตรการหลัก เช่น ดำเนินการนำ ตราสารหนี้ขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชนแบ่งเป็นหน่วยซื้อขายย่อยหรือ การขยายฐานผู้เสริมสภาพคล่อง (market maker) ในตลาดตราสารหนี้เพื่อให้นักลงทุนบุคคลเข้าถึงโดยสะดวกและเพิ่มสภาพคล่องแก่ตลาด เป็นต้น
3. เริ่มนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ เน้นเพื่อประโยชน์ของการลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการและผู้ลงทุนในตลาดทุนไทย เช่น ตราสารอนุพันธ์ securitization และ structured products ที่ควบคุมความเสี่ยง (down-side risk) เช่น การเปิดตลาดอนุพันธ์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยง หรือการสนับสนุนกระบวนการ securitization ในตลาดตราสารหนี้ เป็นต้น
4. เพิ่มศักยภาพในการให้บริการและเพิ่มความแข็งแกร่งมั่นคงของสถาบันตัวกลาง โดยผลักดันให้มีขนาดทุนที่สูงขึ้นจึงจะทำธุรกรรมได้ครบทุกประเภท จัดลำดับเวลาในการกำหนดให้มีการแข่งขันกันเองที่มากขึ้นในมิติที่หลากหลายก่อนนำไปสู่การเปิดรับการแข่งขันจากผู้ประกอบการต่างประเทศ โดยสนับสนุนให้สถาบันตัวกลางมีการเพิ่มทุนพร้อมทั้งเปิดเสรีค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์อย่างเป็นขั้นตอนและให้ความยืดหยุ่นแก่ผู้ประกอบการในการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ
5. สนับสนุนการเพิ่มปริมาณบริษัทจดทะเบียนควบคู่กับการเพิ่มคุณภาพและความสามารถในการแข่งขันของบริษัท จดทะเบียนโดยภาครัฐจะพิจารณาสิทธิประโยชน์ทางภาษีบางประการเพื่อให้บริษัทจดทะเบียนเป็นกลไกสำคัญทางเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและสนับสนุนการดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาลให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น
6. ขยายความรู้ด้านตลาดทุนและความรู้ด้านการเงิน (financial literacy) ให้ทั่วถึงทุกจังหวัดและทุกสถาบันการศึกษาทุกองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดกลางโดยสภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาคมทั้ง 5และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดให้แบ่งเขตการทำงานให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
7. หน่วยงานกำกับดูแลและประสานงาน ให้สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีภารกิจในการพัฒนาตลาดทุน ควบคู่ ไปกับหน้าที่กำกับดูแลและประสานงานและมุ่งเน้นแนวทางสู่ disclosure basis ในอนาคต
ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ลดาวัลย์ กันทวงศ์
โทร. 0-2229 — 2036 / กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร. 0-2229 — 2037/
ณัฐพร บุญประภา โทร. 0-2229 — 2049 / วรรษมน เสาวคนธ์เสถียร โทร. 0-2229-2797