กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--ศปถ.
คณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๕๑ ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๒ ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อพิจารณาร่างแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี ๒๕๕๒ ยึดการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์หลัก ๕ ด้าน กำหนด ๘ มาตรการเน้นหนัก มุ่งเน้นลดปัจจัยเสี่ยงทั้งจากคน รถ ถนนและสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนนให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน เพื่อให้การป้องกันและลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายในการลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินอย่างเป็นรูปธรรม
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ/ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ในฐานะประธานการประชุมฯ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๒ เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงที่ประชาชนจำนวนมากเดินทางกลับภูมิลำเนา และท่องเที่ยวเล่นสาดน้ำตามประเพณีสงกรานต์ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนมากกว่าช่วงปกติ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ซึ่งเป็นองค์กรหลักของรัฐบาลในการบูรณาการการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศ จึงได้จัดทำแผนร่างบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี ๒๕๕๒ ยึดการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์หลัก ๕ ด้าน (บังคับใช้กฎหมาย วิศวกรรมจราจร การให้ความรู้ประชาสัมพันธ์ และการมีส่วนร่วม การแพทย์ฉุกเฉิน และการประเมินผลและระบบสารสนเทศ) มุ่งเน้นการลดปัจจัยเสี่ยงทั้งจากคน รถ ถนน และสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน รวมถึงสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในเขตพื้นที่ โดยดำเนินการตามมาตรการเน้นหนักที่สำคัญ ๘ มาตรการ ได้แก่ ด้านบริหารจัดการ มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฎิบัติงานอย่างเป็นระบบ จัดตั้งศูนย์กลางในการประสานงานทั้งในส่วนกลาง ระดับจังหวัด และอำเภอ ด้านการป้องปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย จัดตั้งจุดตรวจ/ด่านตรวจร่วม เข้มงวดจับกุมดำเนินคดีขั้นสูงสุด และกำหนดเขตเล่นน้ำสงกรานต์ควบคู่กับการใช้มาตรการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณเขตเล่นน้ำสงกรานต์ ด้านสังคมและชุมชน จัดตั้งจุดสกัดกั้นประจำชุมชน หมู่บ้าน เพื่อตรวจตราและป้องปรามผู้มีพฤติกรรมเสี่ยง ด้านการตรวจสอบความปลอดภัยของถนนและรถยนต์ สำรวจจุดเสี่ยง จุดอันตราย และปรับปรุงให้อยู่ในสภาพปลอดภัย ด้านการช่วยเหลือ กู้ชีพ กู้ภัย เตรียมความพร้อมของหน่วยกู้ภัยทั้งบุคลากร เครื่องมือ และวัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งจัดวางระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ ด้านการจราจรและอำนวยความสะดวกในการเดินทาง บริหารจัดระบบการจราจร และแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด เพิ่มจำนวนระบบขนส่งสาธารณะให้เพียงพอ ด้านรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนัก ประชาสัมพันธ์กระตุ้นเตือนและสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนนทางสื่อต่างๆ ด้านการรายงานผลและวิเคราะห์ข้อมูล สนับสนุนการรายงานข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนจากพื้นที่มายังศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี ๒๕๕๒ ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และให้ถือเป็นข้อมูลกลางในการรายงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แก่สื่อมวลชน
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะเลขานุการ ศปถ. เปิดเผยว่า ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เป็น ๓ ช่วง ได้แก่ ช่วงเตรียมความพร้อม (วันที่ ๑๖ มีนาคม — ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๒ ) ให้จังหวัดเตรียมความพร้อมในการจัดทำแผนปฏิบัติการและจัดเตรียมงบประมาณ ดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ตามยุทธศาสตร์หลัก ๕ ด้าน ช่วงปฏิบัติการเข้มข้น (วันที่ ๑ — ๙ เมษายน ๒๕๕๒ ) ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเตรียมความพร้อมในการเดินทาง ตลอดจนการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น จริงจัง พร้อมทั้งซักซ้อมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือกรณีเกิดอุบัติเหตุใหญ่ ช่วงดำเนินการรณรงค์ในช่วงเทศกาล (วันที่ ๑๐ — ๑๖ เมษายน ๒๕๕๒) ปฏิบัติการตามแผนปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการดำเนินงานตามมาตรการบังคับใช้กฎหมายกรณีกระทำผิด เน้นหนักถนนสายหลัก ในวันที่ ๑๐-๑๑ เมษายน ๒๕๕๒ และถนนสายรอง ในวันที่ ๑๒ — ๑๔ เมษายน ๒๕๕๒ ด้วยการเสริมประสิทธิภาพการตั้งจุดตรวจและด่านตรวจในพื้นที่ ทั้งนี้ ศปถ. จะได้นำร่างแผนบูรณการดังกล่าว เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจาณาให้ความเห็นชอบ จากนั้นจะได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดจำนวนครั้งในการเกิดอุบัติเหตุทางถนน จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ให้ลดน้อยลงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
สายด่วน ปภ.1784
0-2243-0674