ศูนย์ ปภ.เขต ๑๒ สงขลาฝึกซ้อมแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยในอาคารขนาดใหญ่

ข่าวทั่วไป Friday March 20, 2009 14:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--ปภ. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต๑๒ สงขลา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ฝึกซ้อมแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยในอาคารขนาดใหญ่ ระดับกลุ่มจังหวัด ประจำปี ๒๕๕๒ ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๒ ณ บริษัท ถาวรอุตสาหกรรมยางพารา (1982) จำกัด อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เพื่อให้หน่วยปฏิบัติหลัก และหน่วยสนับสนุนได้เตรียมความพร้อมในการป้องกัน และประสานการระงับเหตุอัคคีภัยอย่างเป็นระบบ รวมทั้งเสริมสร้างทักษะ และความชำนาญในการช่วยเหลือผู้ประสบอัคคีภัยได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันอัคคีภัยมีแนวโน้มเกิดขึ้นบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะหากเกิดในอาคารขนาดใหญ่ จะยิ่งสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและระงับอัคคีภัยที่อาจเกิดกับอาคารขนาดใหญ่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต๑๒ สงขลา ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนดำเนินโครงการฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจากอัคคีภัยในอาคารขนาดใหญ่ ระดับกลุ่มจังหวัดประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๒ โดยแบ่งการฝึกซ้อมเป็น ๒ รูปแบบ ดังนี้ รูปแบบในที่บังคับการ(Command Post Exercise : CPX)เพื่อประชุมซักซ้อมทำความเข้าใจขั้นตอนการปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๒ ณ ห้องประชุมโรงแรมเค.พี.เค ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และรูปแบบปฏิบัติการจริง(Field Training Exercise:FTX)จำลองการเกิดสถานการณ์เพลิงไหม้ในวันพฤหัสบดีที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ณ บริษัท ถาวรอุตสาหกรรมยางพารา (1982) จำกัด อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนในพื้นที่ได้เตรียมความพร้อมในการป้องกันและระงับอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นในอาคารขนาดใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติหลักและหน่วยสนับสนุนได้ซักซ้อมการฝึกทักษะในการช่วยเหลือผู้ประสบอัคคีภัยอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการระงับอัคคีภัยได้อย่างเป็นระบบ และยังเป็นการทดสอบความพร้อมของบุคลากร เครื่องมือ และอุปกรณ์กู้ภัยต่างๆ ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานได้ทันทีที่เกิดภัย ซึ่งจะส่งผลให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมีความชำนาญ และประสบการณ์ในการบูรณาการปฏิบัติงานด้านต่างๆร่วมกัน เช่น การอำนวยการ การสั่งการ การเผชิญเหตุ การติดต่อสื่อสาร การช่วยเหลือผู้ประสบภัย การปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บ และการนำผู้บาดเจ็บส่งสถานพยาบาล เป็นต้น ทั้งนี้ ภายหลังการฝึกซ้อมแผนจะมีการประเมินผล เพื่อตรวจสอบข้อบกพร่อง และนำไปแก้ไขปรับปรุงในการดำเนินงานป้องกันและระงับอัคคีภัย ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในระบบมาตรฐานความปลอดภัยของภาครัฐให้กับประชาชนในพื้นที่ต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ