กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--สสอน.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ประกาศบทบาทหน้าที่ในการร่วมสนับสนุนงานด้านงบประมาณและวิชาการ และการขยายเครือข่ายของศูนย์เสาะหาและพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษในท้องถิ่นหรือศูนย์จีทีเอ็กซ์ (Gifted and Talented Exploring Center: GTX) ของสถาบันส่งเสริมอัจฉริยภาพและนวัตกรรมการเรียนรู้ (สสอน.) หน่วยงานเฉพาะด้านของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) (องค์การมหาชน) สำนักนายกรัฐมนตรี โดยเชื่อมั่นว่า สามารถค้นหาเด็กไทยที่มีอัจฉริยภาพในสาขาต่างๆ และเป็นประโยชน์มหาศาลต่อประเทศชาติในอนาคต
นายวินัย รอดจ่าย รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า “จากการที่ สสอน. จัดตั้งศูนย์เสาะหาและพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษในท้องถิ่นหรือศูนย์จีทีเอ็กซ์ขึ้น ซึ่งจนถึงปัจจุบันทั่วประเทศมีกว่า 40 ศูนย์ ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และ สพฐ. พร้อมที่จะร่วมสนับสนุนเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านงบประมาณในการดำเนินงานของศูนย์ฯ ที่ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในโรงเรียนสังกัด สพฐ. และงานด้านวิชาการ เพื่อให้ครูในศูนย์ฯ สามารถนำไปใช้พัฒนาและส่งต่อเด็กได้อย่างถูกทางมากขึ้น นอกจากนี้ ในอนาคต สพฐ. จะคัดสรรผลงานของศูนย์จีทีเอ็กซ์ที่โดดเด่นมาจัดแสดงเป็นแบบอย่าง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนา และเพื่อจัดตั้งศูนย์จีทีเอ็กซ์ภายในโรงเรียนอื่นๆ ต่อไป ซึ่งจะเป็นการช่วยขยายเครือข่ายการค้นหาเด็กอัจฉริยะให้มากขึ้น”
“การจัดตั้งศูนย์จีทีเอ็กซ์เพื่อค้นหาเด็กไทยที่มีแววอัจฉริยะในด้านต่างๆ เป็นเรื่องสำคัญและเป็นประโยชน์มหาศาลต่อประเทศชาติในอนาคต เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยไม่มีระบบการค้นหาเด็กอัจฉริยะ ทำให้เด็กไทยจำนวนมากไม่ได้รับการพัฒนาอัจฉริยภาพในด้านต่างๆ จนทำให้ความเป็นอัจฉริยะนั้นสูญหายไปอย่างไม่เกิดประโยชน์ แต่หากศูนย์จีทีเอ็กซ์สามารถค้นหาเด็กอัจฉริยะได้อย่างรวดเร็วตั้งแต่เด็กเหล่านี้อายุน้อย ก็จะส่งผลให้แด็กได้รับการส่งเสริมและพัฒนาตนเองอย่างเต็มตามศักยภาพ และในอนาคตก็จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศ กระบวนการนี้เหมือนการค้นพบเพชร และเป็นการนำพาพลอยอีกจำนวนมากให้อยู่รอดได้ด้วยครับ” นายวินัยกล่าว
นายศรีพงศ์ บุตรงามดี ผู้แทนอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อปท.) กล่าวว่า “ด้วยศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีความเป็นอิสระ มีงบประมาณจำนวนมาก และมีบุคลากรที่พร้อมจะทำงาน จึงเชื่อได้ว่าหากมีศูนย์จีทีเอ็กซ์ตั้งอยู่ในพื้นที่ของ อปท. อปท. แต่ละแห่งก็พร้อมที่จะสนับสนุนเต็มที่ในทุกด้านหากได้รับการร้องขอ ซึ่งจะช่วยให้ศูนย์ฯ เดินหน้าไปได้อย่างสวยงาม เพราะทุกฝ่ายต่างตระหนักดีว่า หากเด็กที่มีความเป็นอัจฉริยะในด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างถูกทาง ความเป็นอัจฉริยะก็จะหายไป แต่หากมีการต่อยอดให้ได้รู้ตัวเองและพัฒนาอย่างถูกทางก็จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไปครับ”
นางสุภัทรา ศรีระวัตร ครูประจำศูนย์จีทีเอ็กซ์ โรงเรียนอนุบาลแพร่ จังหวัดแพร่ เจ้าของรางวัลชนะเลิศ การประกวดสื่อและนวัตกรรมการเรียนรู้ของศูนย์จีทีเอ็กซ์ กล่าวว่า“จากประสบการณ์การเป็นครูประจำศูนย์จีทีเอ็กซ์ ที่โรงเรียนทองสวัสดิ์วิทยาคาร อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน จนปัจจุบันย้ายมาประจำศูนย์จีทีเอ็กซ์ ที่โรงเรียนอนุบาลแพร่ ทำให้รู้ว่า การที่ สสอน. ตั้งศูนย์จีทีเอ็กซ์ในพื้นที่ต่างจังหวัดที่ห่างไกล เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กที่มีความเป็นอัจฉริยะ แต่ตนเอง พ่อแม่ และญาติพี่น้องไม่รู้ ได้ค้นพบศักยภาพของตนเอง โดยมีครูประจำศูนย์ฯ อยู่ในกระบวนการช่วยเหลือ แนะนำ และชี้ช่องทางในการพัฒนาให้เด็ก เช่น กรณีของเด็กที่มีแววอัจฉริยะของศูนย์จีทีเอ็กซ์ที่ ร.ร.ทองสวัสดิ์ฯ เราพบว่า เด็กมีความสามารถพิเศษด้านภาษาอังกฤษ สสอน. จึงได้ส่งเสริมและให้โอกาสในการพัฒนาภาษาเบื้องต้น โดยส่งไปเข้าค่ายเยาวชนนานาชาติ “๑๐th Asia-Pacific Conference on Giftedness” ที่ Nanyang Technological University ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งโอกาสที่จะพัฒนาเด็กในลักษณะนี้คงไม่เกิดขึ้น หากไม่มีศูนย์จีทีเอ็กซ์เข้าไปค้นหาเด็กถึงในระดับพื้นที่ที่เด็กเกิดและอาศัยอยู่...ที่ผ่านมาเรายังไม่เคยเห็นหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจังและชัดเจนมาก่อนเลยค่ะ”
นางสุภัทรากล่าวต่อไปว่า “การเป็นครูประจำศูนย์จีทีเอ็กซ์นั้น ดิฉันมีภาระงานสองด้าน คือ อย่างแรกต้องสอนในชั้นเรียนปกติ และสองต้องปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์ฯ คือ คอยเฝ้าสังเกต ให้คำแนะนำแก่เด็กที่เข้ามาใช้บริการศูนย์ฯ เพื่อจะได้ทราบว่าเด็กแต่ละคนมีความสนใจด้านใดเป็นพิเศษ และมีแววอัจฉริยะหรือไม่ ยอมรับว่างานหนักแต่มีความสุข เพราะได้เป็นส่วนหนึ่งในการค้นหาเด็กไทยที่มีอัจฉริยภาพ ที่วันหนึ่งในอนาคตข้างหน้าเด็กเหล่านี้อาจจะกลายเป็นคนที่มีศักยภาพสูงในการช่วยพัฒนาประเทศ ดิฉันเชื่อมั่นว่า ด้วยภารกิจพื้นฐานและแนวคิดการดำเนินงานจัดตั้งศูนย์จีทีเอ็กซ์ของ สสอน. ผนวกกับการที่ผู้บริหารของ สพฐ. และอปท. ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ จะช่วยให้ศูนย์ฯ สามารถดำเนินการค้นหาและพัฒนาอัจฉริยภาพของเด็กไทยในท้องถิ่นได้เต็มศักยภาพมากขึ้น”
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ คุณอาภาภรณ์ กิจศิริ 085-5699689 และคุณวันนิษา โพธิ์ศรี 089-8995154