กฟผ. เผยน้ำในเขื่อนมีพอใช้ เตือนต้องประหยัดเพราะฤดูแล้งอาจยาวนาน

ข่าวทั่วไป Friday March 20, 2009 17:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 มี.ค.--กฟผ. กฟผ. เผยปริมาณน้ำในเขื่อน กฟผ. ปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้ว แต่ภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ มั่นใจมีน้ำพอใช้เพื่อการชลประทานตลอดฤดูแล้ง วอนให้ประชาชนช่วยกันประหยัดน้ำ เพราะหากปีนี้ฝนตกน้อยหรือฤดูแล้งยาวนานจะส่งผลกระทบต่อปีหน้าได้ วันนี้ (20 มี.ค.) นายวิรัช กาญจนพิบูลย์ รองผู้ว่าการกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม ในฐานะโฆษก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำปี 2552 ว่า จากข้อมูล ณ วันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา พบว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของ กฟผ. รวมทั้งสิ้นประมาณ 44,076 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 71 ของความจุอ่างทั้งหมด น้อยกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วประมาณร้อยละ 3.4 หรือ 2,125 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งหากมองในภาพรวมทั้งประเทศจะเห็นว่า ปริมาณน้ำในปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้วเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และยังมีระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ อย่างไรก็ตามเขื่อนในภาคเหนือ (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล) มีน้ำรวมกัน 14,079 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 60.6 ของความจุอ่าง โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ซึ่งมีระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ต่ำ โดยปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลอยู่ที่ร้อยละ 55.4 ของความจุ ส่วนเขื่อนสิริกิติ์อยู่ที่ ร้อยละ 67 ของความจุ โฆษก กฟผ. กล่าวต่อไปว่า ขณะที่ภูมิภาคอื่นๆ มีระดับอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยภาคกลาง-ตะวันตก (เขื่อน ศรีนครินทร์ เขื่อนท่าทุ่งนา เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนแก่งกระจาน และเขื่อนคิรีธาร) มีน้ำรวมกัน 21,521 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 79 ของความจุอ่าง โดยอ่างเก็บน้ำของทุกเขื่อนมีระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิรินธร เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนน้ำพุง เขื่อนห้วยกุ่ม และเขื่อนปากมูล) มีน้ำรวมกันประมาณ 2,842 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 62 ของความจุอ่าง มีเพียงอ่างเก็บน้ำของเขื่อนสิรินธร ที่มีระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ นอกนั้นอยู่ในเกณฑ์ปกติค่อนข้างสูง ส่วนภาคใต้ (เขื่อนรัชชประภา และเขื่อนบางลาง) มีน้ำรวมกัน 5,635 ล้าน ลบ.ม. หรือ ร้อยละ 79 ของความจุอ่าง โดยอ่างเก็บน้ำของทุกเขื่อนมีระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ นายวิรัช กล่าวด้วยว่า แม้ปีนี้จะปีปริมาณน้ำโดยรวมลดลงจากปีที่แล้ว เนื่องจากปีที่แล้วมีการระบายน้ำมากตามความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ในปีนี้ความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรน่าจะไม่มากเท่าปีที่แล้ว สังเกตได้จากความต้องการใช้น้ำตามโครงการเจ้าพระยาใหญ่ของปีนี้อยู่ที่ประมาณ 8,000 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ปีที่ 2551 มีการระบายกว่า 10,000 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นคาดว่าในปี 2552 จะสามารถระบายน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของ ภาคเกษตรกรรมได้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม กฟผ. ขอให้ประชาชนรวมถึงเกษตรกรใช้น้ำด้วยความประหยัด เพราะหากใช้น้ำมากเกินไป ในขณะที่ฤดูฝนล่าช้าออกไป หรือภาวะแห้งแล้งยาวนานกว่าปกติ จะส่งผลกระทบต่อการจัดสรรน้ำในปี 2553

แท็ก เขื่อน   กฟผ.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ