บีโอไอยันการเมืองไม่กระทบการลงทุน อนุมัติ 3 โครงการใหญ่ เงินลงทุนกว่า 5 หมื่นล้านบาท

ข่าวทั่วไป Wednesday March 22, 2006 11:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 มี.ค.--บีโอไอ
บีโอไอยืนยันสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ ไม่ส่งผลกระทบภาวะการลงทุน โดยในช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ มีนักลงทุนยื่นขอรับส่งเสริม 196 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนกว่า 5.4 หมื่นล้านบาท ส่วนการประชุมบอร์ดบีโอไอวันนี้มีมติอนุมัติส่งเสริมการลงทุน 3 โครงการ กิจการชิ้นส่วนยานยนต์ ส่วนผสมไบโอดีเซล และวัตถุดิบปิโตรเคมี คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 52,889 ล้านบาท
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ว่า บีโอไอได้รายงานต่อที่ประชุมถึงภาวะการลงทุน ในช่วงเดือนมกราคม — กุมภาพันธ์ 2549 ว่า ไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองแต่อย่างใด โดยมีนักลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนถึง 196 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 54,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ มีผู้สนใจลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มากกว่าช่วง 2 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ของบีโอไอ โดยมีการยื่นขอรับ ส่งเสริมในอุตสาหกรรมนี้ถึง 48 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุนประมาณ 18,000 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 12 โดยมีโครงการที่น่าสนใจ เช่น โครงการผลิต Printed Circuit Board และ Printed Circuit Board Assembly รวม 4 โครงการ มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท โครงการผลิต Hard Disk Drive 1 โครงการ มูลค่า 2,400 ล้านบาท
นายสมคิดกล่าวด้วยว่า ภาวะการลงทุนในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยมีมูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นกว่าในช่วงเดียวกันของปี 2547 ถึงร้อยละ 63 และไม่ควรเปรียบเทียบมูลค่าเงินลงทุนของช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้กับปี 2548 เนื่องจากต้นปี 2548 มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ 4 โครงการยื่นขอรับส่งเสริม คือ โครงการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนของโตโยต้า และนิสสัน มูลค่าลงทุนรวม ประมาณ 60,000 ล้านบาท โครงการโรงไฟฟ้าของกัลฟ์ เพาเวอร์มูลค่ากว่า 36,000 ล้านบาท และโครงการแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ของไมโครชิพมูลค่า 10,500 ล้านบาท จึงทำให้มูลค่าเงินลงทุนของ โครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมในช่วง 2 เดือนแรกปี 2548 สูงมาก
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้การส่งเสริมการลงทุนรวมทั้งสิ้นจำนวน 3 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 52,889 ล้านบาท ดังต่อไปนี้
ฮอนด้าลงทุนผลิตชิ้นส่วน Jazz City Civic
บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมเพื่อขยายการผลิตเพลาข้อเหวี่ยง (Crank Shaft) ปีละประมาณ 300,000 ชิ้น ก้านสูบ (Conrod) ปีละประมาณ 300,000 ชุด และเพลาลูกเบี้ยว (Cam Shaft) ปีละประมาณ 300,000 ชิ้น เงินลงทุน 1,789 ล้านบาท โดยจะตั้งโรงงานอยู่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โครงการนี้เป็นการขยายกิจการผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดรถยนต์ที่พิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมในประเทศ และสนับสนุนการส่งออก โดยโครงการดังกล่าวจะผลิตสินค้า เพื่อป้อนการประกอบรถยนต์ของตัวเองรุ่น Jazz , Civic และ City และส่งออกอีกประมาณร้อยละ 80 เป็นการส่งออกทางตรงประมาณร้อยละ 51 โดยจะส่งออกในภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย ปากีสถาน ไต้หวัน และเวียดนาม
ปัจจุบันนโยบายการผลิตของฮอนด้า ทางบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นต้องการใช้ไทยเป็นฐานการส่งออกชิ้นส่วนในภูมิภาคอาเซียน จึงย้ายฐานการผลิตเครื่องยนต์มายังประเทศไทย
ไทยโอลีโอเคมีผลิตส่วนผสมไบโอดีเซล
บริษัท ไทยโอลีโอเคมี จำกัด ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตเคมีภัณฑ์ โดยจะทำการผลิตเมทิลเอสเตอร์ ( Methyl Ester) ปีละประมาณ 384,000 ตัน แฟตตี้แอลกอฮอล์ (Fatty Alcohols) ปีละประมาณ 120,000 ตัน กลีเซอรีน (Glycerin) ปีละประมาณ 38,400 ตัน และโพแทสเซียม ซัลเฟต (Potassium Sulfate) ปีละประมาณ 7,700 ตัน เงินลงทุน 7,100 ล้านบาท โดยจะตั้งโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมตะวันออก จังหวัดระยอง
ปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าเมทิลเอสเตอร์และแฟตตี้แอลกอฮอล์ทั้งหมด ดังนั้นโครงการนี้จะผลิตเพื่อรองรับความต้องการในประเทศ และทดแทนการนำเข้าเป็นหลัก โดยจะจำหน่ายในประเทศ ร้อยละ 80 ต่างประเทศร้อยละ 20 วัตถุดิบที่ใช้ในโครงการนี้คือ น้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันในเมล็ดปาล์มดิบ
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวยังส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมเชื้อเพลิง ซึ่งจะนำไปผลิตไบโอดีเซล ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าน้ำมันดิบลง นอกจากนี้ เมทิลแอสเตอร์และแฟตตี้แอลกอฮอล์ ยังเป็นสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ โดยอุตสาหกรรมนี้ประเทศไทยยังไม่มีการพัฒนา จึงถือเป็นการเริ่มต้นการมีวัตถุดิบโอลิโอเคมีในประเทศไทย ลูกค้าหลักในประเทศ คือ บริษัทไทยอีพอก ซิเลท จำกัด สุดท้ายอุตสาหกรรมผลิตเครื่องสำอาง และยา จะได้รับประโยชน์ เพราะกลีเซอรีนที่ผลิตในประเทศจะส่งผลให้ต้นทุนของวัตถุดิบลดลง
เครือปูนซีเมนต์ไทย ผลิตวัตถุดิบปิโตรเคมีขั้นกลาง-ปลาย
ที่ประชุมเห็นชอบให้อนุมัตืการส่งเสริมแก่นายชลณัฐ ญาณารณพ ในกิจการผลิต ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี โดยมีกำลังการผลิต ETHYLENE ปีละประมาณ 900,000 ตัน และ PROPYLENE ปีละประมาณ 800,000 ตัน ซึ่งจะจำหน่ายในประเทศร้อยละ 80 ต่างประเทศร้อยละ 20 มูลค่าเงินลงทุน 44,000 ล้านบาท โดยจะตั้งโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล จังหวัดระยอง
โครงการนี้ เป็นการผลิต ETHYLENE และ PROPYLENE เพื่อรองรับการขยายตัวของความต้องการที่เพิ่มขึ้น และสนับสนุนการผลิตของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลางและขั้นปลาย และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมพลาสติก เคมีภัณฑ์ สี เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ