กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--สสส.
ภายในสวนสาธารณะเล็กๆ กลางหมู่บ้านอมรพันธ์ 9 ซอยโชคชัย 4 ลาดพร้าว กรุงเพทฯ ในตอนบ่ายวันหนึ่ง ผู้คนเกือบร้อยคนได้มารวมตัวกันที่นี่ เสียงประกาสผ่านไมโครโฟน บอกว่าวันนี้จะเป็นวันมอบประกาศนียบัตรให้กับเยาวชน หลังจากผ่านการเรียนศิลปะและดนตรีมาแล้ว 36 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าจบหลักสูตร
กิจกรรมเล็กๆ ที่ว่านี้ อาจจะเป็นปกติธรรมดา เพราะมีการจัดโดยทั่วไปอยู่แล้ว แต่ที่พิเศษ และ “ไม่ธรรมดา” เนื่องจากหลักสูตรศิลปะและดนตรีที่กล่าวถึงนี้ ผู้ริเริ่ม ผู้สอน ล้วนเป็น “ผู้พิการ” ทั้งสิ้น ส่วนลูกศิษย์ที่จบหลักสูตรส่วนใหญ่ก็คือเยาวชนปกติครบสามสิบสองที่ใช้เวลา เข้ามาเรียน
การเรียนการสอนศิลปะและดนตรีแห่งหมู่บ้านอมรพันธ์ 9 นี้มีชื่อเต็มๆ ว่า โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชน ด้วยศิลปะดนตรีโดยคนพิการ โดยเครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งโครงการนี้ ได้ลบคำปรามาสของสังคมลงอย่างสิ้นเชิง เพราะผู้พิการที่คิดการดีเหล่านี้ ได้แปรเปลี่ยนจาก “ผู้รับ” มาเป็น “ผู้ให้” ได้อย่างสมบูรณ์
ศักดิ์ศิลป์ สิงห์บุรมย์ ประธานเครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ บอกว่า กิจกรรมที่จัดขึ้น ต้องการสร้างทัศนคติที่ดีระหว่างผู้พิการกับคนทั่วไป ว่าผู้พิการนั้นก็สามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้ ไม่ได้เป็นภาระอย่างที่เคยเป็นมา ในเมื่อตัวเขามีความสามารถดด้านดนตรี จึงใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือในการสื่อสารและเชื่อมโยงให้เยาวชนได้เข้าใจ
“เราไม่ต้องการให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ คิดว่าผู้พิการเป็นกลุ่มคนที่น่าสงสาร” ศักดิ์ศิลป์ พูดถึงเป้าหมาย ก่อนจะบอกว่า “หลังจากทำกิจกรรมแล้ว เราก็พบว่า เด็กๆ เข้าใจในสิ่งที่เราทำ และได้รับประโยชน์จากกิจกรรมที่เราจัดขึ้น สังเกตได้จากคนที่เข้าร่วมกิจกรรมก็มีอยู่เยอะพอสมควร”
กิจกรรมตามโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชน ด้วยศิลปะดนตรีโดยคนพิการ ซึ่งสนับสนุนจาก สสส. มีทั้งหมด 3 หลักสูตร ประกอบด้วย หลักสูตรศิลปะ, หลักสูตรดนตรี (กีต้าร์) และหลักสูตรคอมพิวเตอร์ดนตรี ใช้เวลาเรียนทั้งหมด 36 ชั่วโมง เรียนทุกวันเสาร์-อาทิตย์ในช่วงบ่าย โดยเริ่มเรียนตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2551 ที่ผ่านมา จนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์จึงจบหลักสูตร
การดำเนินกิจกรรมทั้ง 3 หลักสูตร ศักดิ์ศิลป์ บอกว่า นอกจากผู้พิการในเครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการจะเป็นผู้สอนแล้ว ทางเครือข่ายยังได้เชิญ “มืออาชีพ” มาเป็นวิทยากร เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ ให้กับเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการด้วย เช่น ทอดด์ ทองดี, พิสุทธิ์ ทรัพย์วิจิตร เป็นต้น
ในงานวันมอบประกาศนียบัตรเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เยาวชนที่ผ่านการเรียนหลักสูตรต่างๆ ได้นำผลงานของตัวเองมาโชว์ในงานนี้ด้วย อย่างกลุ่มที่เรียนศิลปะ ได้แสดงภาพเพนท์บนเสื้อยืด บางคนนำกระเป๋าผ้าที่มีลายปักสีสันสดใส อันเป็นผลงานระหว่างการเรียนมาแสดงด้ดวยเช่นกัน ส่วนกลุ่มที่เรียนดนตรีได้ขึ้นไปเล่นและร้องบนเวที
แม้บางคนจะเล่นตะกุกตะกัก จับคอร์ดกีต้าร์บอดดเป็นบางช่วง เสียงร้องก็แหกคีย์จนฟังแทบจะไม่รู้เรื่อง แต่ภาพที่ปรากฏคือความมุ่งมั่นตั้งใจที่ต้องการแสดงให้ทุกๆ คนเห็นว่า การเรียนรู้ที่ผ่านมาของพวกเขาคือบทเรียนเบื้องต้น ถ้าต้องการเก่งแบบมืออาชีพ ก็ต้องฝึกซ้อมต่อไปเรื่อยๆ
“บางคนมาเรียนกับเราไม่มีพื้นฐานเลย ได้แค่นี้ก็ถือว่าพอใจแล้ว ส่วนเหลือจากนั้น น้องๆ ก็ต้องไปฝึกฝนให้ช่ำชองเอาเอง” ศักดิ์ศิลป์ ว่า
นอกเหนือจากบทเรียนในหลักสูตรต่างๆ ที่สอนไป เพื่อให้เยาวชนได้มีความรู้พื้นฐานติดตัว สิ่งหนึ่งที่โครงการฯ มุ่งหวังอย่างยิ่ง นั่นคือทัศนคติต่างๆ ระหว่างผู้พิการกับสังคม หากไร้ซึ่งมุมมองในแง่ลบต่อกัน การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก
บุญวัฒน์ เดชานุรักษ์นุกูล ผู้ปกครองของ “น้องปิง” หนุ่มวัยรุ่นที่มาฝึกกีต้าร์กับคุณครูผู้พิการ บอกว่า เมื่อลูกชายเขามาบอกว่าจะไปมาเรียนกีต้าร์กับเครือข่ายผู้พิการ เขาอนุญาตทันที เพราะเห็นว่าผู้พิการทุกวันนี้มีความสามารถสูงมากไม่แพ้คนปกติ และยังประหยัดด้วย เพราะถ้าไปเรียนในโรงเรียนสอนดนตรีทั่วไป ก็จะเสียค่าใช้จ่ายแพงมาก
“ลูกผมจากที่เล่นไม่เป็นเลย ตอนนี้ก็เล่นได้แล้ว แถมยังไม่เสียเงินสักบาท เพราะโครงการนี้เขาให้เรียนฟรี หรือถ้าเขาอยากจะเงิน ผมก็ยินดีที่จะให้ แต่ทางนี้ (เครือข่ายศิลปะดนตรีคนพิการ) บอกว่า เขาได้รับเงินสนับสนุนจาก สสส.แล้ว ผมก็คิดว่าโครงการฯนี้ มีประโยชน์มากๆ” คุณพ่อน้องปิง บอก
เขายังให้ความเป็นด้วยว่า นอกจากจะช่วยผู้ปกครองที่มีรายได้น้อยแล้ว ยังช่วยป้องกันไม่ได้ให้เด็กๆ ใช้เวลาอย่างสูญเปล่า ไม่ไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติด หรือมั่วสุมกัน การชวนกันเล่นดนตรีย่อมดีกว่าชวนกันไปเล่นเกมคอมพิวเตอร์แน่นอน
ส่วนลูกศิษย์ อย่าง “น้องโทนี” ปฏิภาณ จิตกมล นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนสตรีวิทยา 2 เขามาเรียนกีต้าร์ บอกว่า ตอนนี้ฝีมือของเขาพัฒนาขึ้นมาก แม้จะไม่ถึงกับเก่ง แต่เชื่อว่าพื้นฐานที่เขาได้ จะช่วยให้เขาฝึกฝีมือได้อย่างถูกหลักมากขึ้น แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือการได้เจอเพื่อนกลุ่มใหม่ และยังมีทัศนคติเกี่ยวกับผู้พิการเปลี่ยนไปด้วย
“เราได้เห็นความสามารถของผู้พิการมากขึ้น และมีเพื่อนผู้พิการที่มาเรียนด้วยกันด้วย” น้องโทนี บอก และว่า โครงการนี้มีประโยชน์ต่อตัวเขามาก ถ้าเขาไม่มาเรียนกับโครงการฯ เวลาว่างๆ ของเขาก็คงหมดไปกับการเล่นเกมคอมพิวเตอร์เหมือนเพื่อนวัยรุ่นคนอื่นๆ
คุณูปการที่จับต้องได้ของโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชน ด้วยศิลปะดนตรีโดยคนพิการ คือการให้ความรู้แก่เยาวชน แต่ที่มีความหมายลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น น่าจะเป็นศิลปะและดนตรีได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมโยงมนุษย์เข้าด้วยกัน ไม่ได้แบ่งแยกว่า “เขา” หรือ “เรา” และไม่ได้ขีดเส้นกั้นให้ผู้พิการเป็น “คนอื่น” อีกต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 087-605-3559 karn