สกว.ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดงาน “ชาวบ้านวิจัย รากฐานใหม่ของสังคม” พร้อมโชว์ศักยภาพผลงานวิจัยของชาวบ้านจากทั่วทุกภาค

ข่าวทั่วไป Monday March 23, 2009 12:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--สกว. ในโอกาสครบรอบ 10 ปี ของการดำเนินงาน ด้านงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ร่วมกับเครือข่ายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น และภาคีพันธมิตร จัดงานนิทรรศการและสัมมนา “ชาวบ้านวิจัย...รากฐานใหม่ของสังคม” พร้อมโชว์ผลงานน่าทึ่งฝีมือชาวบ้าน จากทุกภาคและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างชุมชน นักวิชาการชื่อดัง หลังจากหนุนชาวบ้านทำโครงการกว่า 1,400 โครงการ สร้างนักวิจัยชุมชน กว่า 10,000 คน ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ริเริ่มแนวคิด “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นได้แสดงศักยภาพและความสามารถในการรวบรวมและบันทึกข้อมูล นำข้อมูลที่เก็บได้มาวิเคราะห์ วางแผนกิจกรรมเพื่อการแก้ไขปัญหาที่ตัวเองเผชิญ ตามหลักคิดที่ว่า ปัญหาเป็นของชุมชน ชุมชนต้องเป็นฝ่ายมาร่วมกันคิด ร่วมกันวางแผน และรวมกันทำกิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาของชุมชนเอง ภายใต้ยุทธศาสตร์ เพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่น และเน้นให้ชุมชนใช้ประโยชน์จากงานวิจัย “ตลอดระยะเวลา 10 ปีของการทำงาน ส่งผลให้ชุมชนนำสิ่งที่ทำไปใช้เป็นเครื่องมือ หรือทางเลือกในการแก้ปัญหา ปรากฏให้เห็นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เกิดโครงการวิจัยของชาวบ้านเองกว่า 1,400 โครงการ และมีนักวิจัยท้องถิ่นตั้งสัปเหร่อ จนถึงที่มีความรู้ระดับดอกเตอร์ขึ้นมากว่า 10,000 คน ซึ่ง เป็นที่มาของประโยคแห่งความภาคภูมิใจที่ว่า “ชาวบ้านทำวิจัยได้” ที่สำคัญ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยหลาย ๆ เรื่องที่ชุมชนร่วมกันคิด และวางแผนสามารถตอบสนองความต้องการของชุมชนได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดการปัญหาหนี้สิน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาด้านการประกอบอาชีพ เป็นต้น” ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าว ทั้งนี้ งานวิจัยของชุมชนที่โดดเด่น ได้นำมาเผยแพร่ ในรูปแบบของการจัดกิจกรรม นิทรรศการ การเสวนา เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การแสดงศิลปวัฒนธรรมอัตลักษณ์ของท้องถิ่น การแสดงและจำหน่ายผ้าทอจากงานวิจัยของชาวบ้าน โดยงาน10 ปี งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น “ชาวบ้านวิจัย รากฐานใหม่ของสังคม”จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 20-21 มีนาคม ศกนี้ ที่ห้องแกรนด์ไดมอนบอลรูม คอนเวนชั่นฮอล์ อิมแพคเมืองทองธานี นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการนำเสนอผลงาน และความก้าวหน้าของการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่คนในท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการและใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยนั้นโดยตรง จากโจทย์วิจัยที่มาจากปัญหาหรือความต้องการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของตนเอง เป็นงานที่รวมผลงานที่เป็นนวัตกรรมจากงานวิจัย ดังตัวอย่างกว่า 10 นวัตกรรมเด่นฝีมือนักวิจัยชาวบ้านจาก 10 ชุมชนที่คัดเลือกมานำเสนอในงานดังกล่าว สำหรับงานวิจัยที่จะนำมาเผยแพร่มี อาทิ นวัตกรรม “บัญชีครัวเรือน” เพื่อการจัดการปัญหาหนี้สินของชุมชนชาวบ้านสามขา ที่กลายมาเป็นต้นตำรับให้กับอีกหลาย ๆ ชุมชน นวัตกรรมสูบน้ำ “แอร์แว” ของชุมชนบ้านผาชัน ซึ่งเป็นชุมชนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ติดแม่น้ำโขง ปัญหาที่ชุมชนได้รับก็คือไม่มีน้ำใช้เมื่อถึงเวลาหน้าแล้ง ชาวบ้านภายใต้การนำของครูในโรงเรียนประจำตำบลได้ใช้กระบวนการวิจัยค้นหาแนวทางการจัดการน้ำของชุมชน กระทั่งพบ “แอร์แว” นวัตกรรมสูบน้ำที่สามารถช่วยให้ชุมชนได้มีน้ำใช้ได้ตลอดปี อีกตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ “ประตูหับเผย” ที่ ตำบลแพรกหนามแดง จ.สมุทรสงคราม , รูปแบบการเปิดปิดประตูระบายน้ำของกรมชลประทาน ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านทั้งสองฝั่ง ชาวบ้านจึงหาทางออกด้วยการย้อนกลับไปศึกษารูปแบบการจัดการน้ำของคนรุ่นเก่าจนพบว่าประตูหับเผย ซึ่งสามารถปิด และเปิดเองโดยอาศัยหลักการไหลของน้ำ จึงนำมาพัฒนารูปแบบต่อ กระทั่งกลายมาเป็นรูปแบบประตูระบายน้ำที่สามารถแก้ไขความขัดแย้งท่ายืดเยื้อยาวนานของชุมชนได้ในที่สุด ตัวอย่างดังกล่าว ล้วนเป็นนวัตกรรมที่เกิดจากการทำงานวิจัยของนักวิจัยชาวบ้านและมาจากฐานภูมิปัญญาของท้องถิ่น สอดคล้องกับเป้าหมายการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นของ สกว. เป็นมิติใหม่ของการทำงานวิจัยที่ชาวบ้านไม่ได้เป็นเพียงผู้ให้ข้อมูลและไม่รู้ว่าผลของงานวิจัยนั้นชุมชนจะใช้ประโยชน์ได้อย่างไร ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ มาณวิกา 081-553-7553 วนาลี 089-120-3070

แท็ก สกว.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ