กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--ธนาคารนครหลวงไทย
ธนาคารนครหลวงไทย ผนึก สสว. หนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจช่วงถดถอยปล่อยสินเชื่อใน “โครงการสนับสนุนการปรับปรุง/ฟื้นฟูสภาพเครื่องจักรแก่ผู้ประกอบการ SMEs (Machine Fund) ระยะที่ 2” โดยผู้ประกอบการสามารถนำหลักฐานการจ่ายงวดเงินกู้ให้ธนาคารมาขอรับการสนับสนุนดอกเบี้ยในอัตรา 3% ต่อปี จาก สสว. เป็นระยะเวลา 5 ปี ในวงเงินกู้ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย
นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร นครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และสถาบันไทย-เยอรมัน (TGI) สนับสนุนการปล่อยสินเชื่อใน “โครงการสนับสนุนการปรับปรุง/ฟื้นฟูสภาพเครื่องจักรแก่ผู้ประกอบการ SMEs (Machine Fund) ระยะที่ 2” ให้แก่ผู้ประกอบการ 8 สาขาอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมอะไหล่และเครื่องจักรกล อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ อุตสาหกรรมเซรามิกส์/เครื่องเคลือบดินเผา อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ รถจักรยานยนต์ อุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมเกี่ยวกับ Life style โดยผู้ประกอบการที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารและผ่านการวิเคราะห์เกี่ยวกับสภาพเครื่องจักรจากสถาบันไทย-เยอรมันสามารถนำหลักฐานการจ่ายงวดเงินกู้ยื่นกับทาง สสว. เพื่อขอรับการสนับสนุนดอกเบี้ย 3% ต่อปี เป็นระยะเวลา 5 ปี ในวงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารเชื่อมั่นว่าการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการประสานความร่วมมืออย่างดียิ่งระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอีให้มีการเติบโตอย่างสมดุล ต่อเนื่อง และยั่งยืน รวมทั้งสอดคล้องกับนโยบายการขยายฐานลูกค้าเอสเอ็มอีตามแผน 3 ปี ระหว่างปี 2551-2553 ของธนาคารอีกด้วย
สำหรับวัตถุประสงค์การขอกู้ใน “โครงการสนับสนุนการปรับปรุง/ฟื้นฟูสภาพเครื่องจักรแก่ผู้ประกอบการ SMEs (Machine Fund) ระยะที่ 2” ได้แก่ 1. การขอกู้เพื่อการพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องจักร (Supporting Industry Development) แบ่งเป็น การต่อยอดงานวิจัยพัฒนาต้นแบบของเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ (Prototype) การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ มาพัฒนาเครื่องจักรเพื่อทดแทนการนำเข้า (Reverse Engineering & Retro-Fit) และการทดสอบประสิทธิภาพเครื่องจักร อุปกรณ์ ระบบการทำงาน (Testing) 2. การปรับปรุง ซ่อมบำรุง ติดตั้ง ทดแทน ชิ้นส่วนระบบต่าง ๆ (Modification) 3. การติดตั้งเครื่องจักร หรือระบบควบคุมการทำงานที่เกี่ยวข้อง (System Installation) และ4. การติดตั้งเทคโนโลยีสารสนเทศในกระบวนการผลิต (ICT Application)