ดัชนีอุตฯ ก.พ. ปรับตัวลดลงต่ำกว่า 100 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 35 ผู้ประกอบการหวั่นภาวะเศรษฐกิจโลกฉุดยอดส่งออกลดลง

ข่าวทั่วไป Monday March 23, 2009 12:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--สภาอุตสาหกรรมฯ นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,215 ตัวอย่าง ครอบคลุม 39 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ ว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 63.0 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนมกราคม ที่ระดับ 64.1 โดยได้รับผลกระทบมาจากปริมาณการผลิตที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมีการปรับลดลงเพื่อให้สอดคล้องกับยอดคำสั่งซื้อ และยอดขายที่ลดลงไป ส่งผลให้ผลประกอบการปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน สาเหตุสำคัญยังมาจากภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ชะลอตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าผู้ประกอบการจะต้องเผชิญกับภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจก็ตาม แต่ผู้ประกอบการก็ได้มีการปรับตัวเพื่อรับกับสถานการณ์ดังกล่าวโดยพยายามลดต้นทุนการผลิต มีการหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ที่มีต้นทุนต่ำ ประกอบกับปรับปรุงการบริหารองค์กร และปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้มากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ยังพบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ยังอยู่ในระดับต่ำที่กว่า 100 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 35 นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2549 เป็นต้นมา สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ในระดับที่ไม?ดีมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 73.0 ปรับลดลงจากเดือนมกราคม ที่อยู่ในระดับ 74.5 และยังเป็นระดับที่ต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (2551) ที่อยู่ในระดับ 99.9 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมในอนาคต อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ยังคงชะลอตัว ตลอดจนปัญหาการเมืองในอนาคต ถึงแม้ว่ารัฐบาลชุดใหม่จะมีนโยบายออกมากระตุ้นเศรษฐกิจก็ตาม แต่ก็ยังต้องรอการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอีกระยะหนึ่ง ด้านดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามขนาดอุตสาหกรรม พบว่า อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม โดยเป็นผลมาจากการปรับลดปริมาณการผลิต ตลอดจนผลกระทบจากด้านต้นทุนประกอบการที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมได้รับผลกระทบค่อนข้างมากกว่า ส่งผลให้ผลประกอบการปรับลดลง ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้วยปัจจัยด้านต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าการปรับขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นฯ ยังเป็นระดับที่ต่ำกว่า 100 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ยังคงได้รับผลกระทบจากการปรับลดปริมาณการผลิตลง เพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งซื้อโดยเฉพาะยอดคำสั่งซื้อต่างประเทศที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาค พบว่า อุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมกราคมที่ผ่านมา ยกเว้นภาคใต้ ที่ได้รับผลดีจากจากยอดขาย และผลประกอบการที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรม ไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น อุตสาหกรรมหัตถอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง และอุตสาหกรรมอาหาร (อาหารทะเลแปรรูป) ถึงแม้ว่าการส่งออกจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว แต่ผู้ประกอบการได้หันมาให้ความสำคัญกับการขยายตลาดในประเทศมากขึ้น ประกอบกับยังได้รับผลดีจากการท่องเที่ยวในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามตลาดส่งออก พบว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศ ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบจากยอดขายที่หดตัวไปเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องมาจากการจำหน่ายสินค้าในตลาดต่างประเทศเป็นไปได้ยากขึ้น เนื่องจากประเทศคู่ค้ามีนโยบายปกป้องสินค้าที่ผลิตภายในประเทศมากขึ้น ส่งผลต่อเนื่องมายังปริมาณการผลิตที่ต้องปรับลดลงเพื่อให้สอดคล้องกับยอดขายที่ลดลงไป สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ ต่อภาครัฐ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ต้องการให้รัฐ เร่งผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐให้มีผลโดยเร็ว เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน สร้างเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมือง และเสริมสร้างบรรยากาศในการลงทุน กระตุ้นให้สถาบันการเงินพิจารณาปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับภาคอุตสาหกรรมให้มากขึ้น และควรผ่อนคลายกฏระเบียบในการปล่อยสินเชื่อลง ช่วยเหลือผู้ประกอบการในด้านภาษีต่างๆ เช่น การลดอัตราภาษีนำเข้าวัตถุดิบ การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ เพื่อช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมส่งออก และช่วยควบคุมดูแลเรื่องราคาน้ำมัน และราคาวัตถุดิบไม่ให้สูงเกินไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โทร. 0-2345-1017 โทรสาร 0-2345-1296-9

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ