ผลการหารือระหว่างภาคอุตสาหกรรมนิคเกิลสหภาพยุโรป (ENIA) กับกลุ่มประเทศที่สาม

ข่าวทั่วไป Monday March 23, 2009 17:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--คต. นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมนิคเกิลสหภาพ ยุโรป (European Nickel Industry Association : ENIA หรือ Nickel Institute) ได้ร่วมหารือกับกลุ่มประเทศที่สาม เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 เรื่องการปรับเปลี่ยนการจัดประเภทสารประกอบนิคเกิลไปขึ้นกับระเบียบใหม่ว่าด้วย การจัดจำแนก การปิดฉลาก และการบรรจุหีบห่อสารเคมี (Classification, Labelling and Packaging : CLP) Regulation ซึ่งได้ประกาศใน Official Journal เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2551 และมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2552 ส่งผลให้มีการยกเลิกคำสั่งว่าด้วยสารเคมีอันตรายเดิม (Dangerous Substance Directive : DSD) ในภาคผนวก อย่างไรก็ดีการจัดจำแนกสารเคมีใหม่ตามภาคผนวก VI ของระเบียบ CLP ใหม่นั้น ได้รวมการแก้ไขตามประกาศ Adaptation to Technical Progress (ATP) ของคำสั่ง DSD จนถึงประกาศ ATP 29 เท่านั้น ส่วนการแก้ไขตามประกาศ ATP 30 และ ATP 31 จะไปรวมไว้ใน ATP 1 ของระเบียบ CLP ซึ่งขณะนี้ Nickel Institute ต้องการเสียงสนับสนุนจากประเทศที่สามเพื่อคัดค้านการดำเนินงานดังกล่าว และเรียก ร้องให้ EU รับทราบร่างประกาศ ATP 1 ของระเบียบ CLP เพื่อให้มีการหารือ เสนอข้อคิดเห็นและซักถามโดยสมาชิก WTO ด้วยเหตุผลต่อไปนี้ 1) ขาดการปรึกษาหารือที่ถูกต้องเกี่ยวกับร่างประกาศ ATP 31 เนื่องจากประเทศสมาชิก WTO มีเวลาให้ข้อคิดเห็นน้อยไป และยังไม่ได้รับคำตอบที่พึงพอใจจากฝ่าย EU 2) มีข้อกังวลเกี่ยวกับเหตุผลทางวิทยาศาสตร์และผลกระทบต่อการค้า 3) EU ยังไม่มีการกำหนดระยะเวลาที่จะประกาศ ATP 1 ของระเบียบ CLP และควรแจ้งต่อคณะกรรมการว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิค (TBT Committee) ด้วย หาก EU ยังมีท่าทีเช่นเดิม ภายหลังจากการปรึกษาหารือปัญหาของทั้ง 2 ฝ่ายสิ้นสุดแล้ว Nickel Institute เรียกร้องไม่ให้มีการรวมสารนิคเกิลไว้ในประกาศ ATP 1 และให้บันทึกไว้ในรายงานการประชุม TBT Committee อีกด้วย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ Nickel Institute ได้กำหนดท่าทีที่ชัดเจนในการคัดค้านประกาศ ATP ในการจัดสารประกอบนิคเกิลไปรวมอยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็ง (CMR) อีกด้วย หากไม่มีข้อมูลสนับสนุนที่เพียงพอ ชัดเจน และตั้งอยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชอบด้วยเหตุผล และเพื่อป้องกัน EU ใช้วิธีการ “Read Across” กับสารเคมีอื่นๆ รวมถึงเป็นการป้องปราบ EU ไม่ออกประกาศแบบเดียวกันนี้กับภูมิภาคอื่น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยควรติดตามความคืบหน้าการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวของ EU อย่างใกล้ชิด เพื่อรับทราบข้อมูลที่เป็นปัจจุบันในการปรับตัวให้สอดคล้องกับระเบียบ CLP ที่มีผลบังคับใช้แล้ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ