ทรู ชื่นชมนโยบายแปรสัญญาสัมปทาน เปิดเสรีเป็นธรรม มั่นใจประชาชนได้ประโยชน์ ภาครัฐไม่เสียรายได้ เอกชนมีกำไรคืนกลับเป็นภาษี โปร่งใส ตรวจสอบได้

ข่าวทั่วไป Tuesday October 24, 2006 13:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--พี อาร์ โซลูชั่น
ทรู ชื่นชมนโยบายแปรสัญญาสัมปทานของ รมต. ไอซีที สอดคล้องกับกฎหมายเปิดเสรีโทรคมนาคมตามหลักสากล มั่นใจหากเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเสรีเป็นธรรม ประชาชนไทยทุกคนจะได้ประโยชน์สูงสุด ภาครัฐไม่เสียรายได้ แต่แข็งแกร่ง เติบโตมากกว่าเดิม ขณะที่เอกชนมีกำไรก็จ่ายคืนรัฐในรูปแบบภาษีที่โปร่งใส ให้ตรวจสอบได้ ย้ำยินดีจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ กทช. แต่ทุกรายรวมทั้งรัฐวิสาหกิจ ต้องจ่ายเท่าเทียมกัน
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น แสดงความเห็นกรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดทางเอกชนยกเลิกสัญญาสัมปทาน โดยยึดการให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายเป็นหลัก รวมทั้งประโยชน์ของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ โดยนายศุภชัยมีความเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว และเห็นว่าควรเกิดขึ้นนานมาแล้ว เพราะสอดคล้องกับกฎหมายเปิดเสรีโทรคมนาคมตามหลักสากล ซึ่งวงการอุตสาหกรรมทุกประเทศ ภายหลังจากยกเลิกการผูกขาดโดยรัฐ ก็ให้ยกเลิกสัมปทาน และให้ใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมแทน เพื่อให้ผู้ประกอบการทุกฝ่ายสามารถแข่งขันการให้บริการได้โดยเสรี เนื่องจากการผูกขาดโดยที่รัฐเป็นเจ้าของทุกอย่าง ได้ผ่านการพิสูจน์ทั่วโลกแล้วว่า ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สร้างประโยชน์ให้กับสังคมโดยรวม เนื่องจากขาดแรงจูงใจในการแข่งขันและไร้ผู้ประกอบการเปรียบเทียบ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของความโปร่งใสของอุตสาหกรรม
“ ขณะนี้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทั่วโลก มีการพัฒนาเทคโนโลยีโทรคมนาคมในระดับสากลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนำไปสู่การปฏิรูปปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ตลอดจนมุมมองเกี่ยวกับบทบาทของรัฐที่เคยควบคุมดูแลอุตสาหกรรมดังกล่าว จะเห็นว่าทั่วโลกเปิดให้เอกชนเข้ามามีส่วนในการให้บริการมากขึ้น เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ไม่ว่าเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจ ก็ให้บริการได้เหมือนกัน ที่สำคัญคือ ผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุด ภายใต้การแข่งขันที่เสรีเป็นธรรม และเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันได้รับการพิสูจน์ทั่วโลกแล้วว่า การผูกขาดโดยรัฐไม่ได้ก่อประโยชน์ให้กับสังคมโดยรวมแต่อย่างใด เนื่องจากการผูกขาดโดยรัฐที่ผ่านมาในอดีต ก่อให้เกิดความขาดแคลน มีราคาแพง และประชาชนไม่มีทางเลือกที่จะใช้บริการอื่นๆที่ดีกว่า ไม่มีความโปร่งใสในแวดวงอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคม และก่อให้เกิดช่องทางในการคอร์รัปชั่น ไม่ได้หมายความว่า คนของรัฐไม่ดี แต่เป็นเพราะระบบที่ผูกขาดนั้นไม่ดี” นายศุภชัยกล่าว
นอกจากนี้ นายศุภชัยยังมีข้อเสนอแนะว่า รัฐวิสาหกิจในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐ ควรมีหน้าที่เป็นแกนหลักนำอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบเสรีเป็นธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภค รวมทั้งต้องเป็นผู้นำในการปฏิรูปอุตสาหกรรม สร้างความเป็นธรรมให้กับตลาดโดยรวม เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะเดียวกันภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือ กทช. ซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลสื่อสารโทรคมนาคม ควรพิจารณาสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้สามารถแข่งขันและเติบโตได้
“ รัฐควรเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง ในหลายๆ ประเทศกระบวนการเปิดเสรีจะมีมาตรการชั่วคราวเพื่อให้ความช่วยเหลือรัฐวิสาหกิจในช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยภาครัฐซึ่งอาจจะเป็นรัฐบาลหรือ กทช. ก็ได้ ตัวอย่างเช่น สามารถยกเว้นให้รัฐวิสาหกิจไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินสนับสนุนกองทุน (USO —Universal Service Obligation ) และสามารถให้รัฐวิสาหกิจสามารถหักลบต้นทุนบางสิ่งที่ได้ลงทุนไปจากเงินกองทุน USO ดังกล่าว โดยภาครัฐสามารถให้การพิจารณาอนุมัติได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในกระบวนการเปิดเสรีทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ปรับตัวได้ แข่งขันได้มากขึ้น แข็งแกร่งขึ้นและเติบโตกว่าเดิม”
นายศุภชัย กล่าวเพิ่มเติมสนับสนุนแนวคิดที่จะให้มีการยกเลิกสัญญาสัมปทานดังกล่าว ซึ่งควรจะยกเลิกมาตั้งแต่มีการประกาศใช้กฎหมายโทรคมนาคม โดยเห็นว่าการยกเลิกดังกล่าว ควรเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการจัดตั้ง กทช. เหมือนกับประเทศอื่นที่มีการเปิดเสรี แต่ที่ผ่านมาเนื่องจากความอ่อนไหวทางการเมือง ปัญหาจึงคาราคาซัง เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างระบบ 2 ระบบที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง นั่นคือระบบผูกขาดโดยรัฐเป็นเจ้าของทุกอย่าง กับระบบเปิดเสรีเป็นธรรม นอกจากนี้ ยังจะนำไปสู่การฟ้องร้องระหว่างผู้ประกอบการเอกชนกับรัฐ ซึ่งหากปล่อยให้คู่สัญญาสัมปทานพูดคุยตกลงกันเองโดยภาครัฐไม่ขอเกี่ยวข้อง การพูดคุยเพื่อหาข้อยุติก็ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากผลประโยชน์ที่ขัดกัน ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง สิ่งที่ถูกต้องที่สุดที่ควรจะทำก็คือ การยกเลิกสัญญาสัมปทาน พร้อมๆ กับการตั้ง กทช. เพื่อให้ กทช.เป็นผู้พิจารณาให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจโทรคมนาคมบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน
สำหรับประเด็นที่กังวลว่า หากแปรสัญญาแล้ว ผู้ประกอบการเอกชนจะได้ประโยชน์แต่ฝ่ายเดียว มีรายจ่ายน้อยลง เพราะไม่ต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ นายศุภชัยมีความเห็นว่า ผู้ประกอบการธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทชั้นนำทั้งสิ้น มีความสามารถในการประกอบธุรกิจ และมั่นใจว่าภายใต้การแข่งขันอย่างเสรีเป็นธรรม ผู้ประกอบการทุกรายสามารถที่จะแข่งขันให้บริการที่ดีที่สุด เป็นทางเลือกให้กับประชาชนไทย และเมื่อธุรกิจมีกำไร ผู้ประกอบการเอกชนก็ต้องจ่ายคืนแก่ภาครัฐในรูปของภาษีประเภทต่างๆ เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย ในครรลองที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และภาครัฐก็สามารถนำเงินภาษีดังกล่าว กลับไปใช้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างความอุดมสมบูรณ์กระจายให้กับประชาชนและสังคมโดยรวม มากกว่าที่เป็นมาในอดีต
นายศุภชัย ยังกล่าวต่อไปด้วยว่า สำหรับกรณีที่หวั่นเกรงว่ารัฐวิสาหกิจจะไม่สามารถอยู่ได้ ความคิดดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากในประเทศต่างๆที่ยกเลิกการผูกขาดโดยรัฐ รัฐวิสาหกิจก็ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และก็ยังมีโอกาสที่จะเติบโตและแข็งแกร่งโดยภาครัฐและรัฐบาลให้การสนับสนุน สำหรับในประเทศไทย กทช. ก็สามารถให้การสนับสนุนรัฐวิสาหกิจโดยใช้กองทุน USO
“ ผมอยากจะบอกว่า นโยบายการแปรสัญญาของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที ที่ได้กล่าวมานั้น จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศ สำหรับวงการอุตสาหกรรม ตลอดจนผู้บริโภคคนไทยทุกคน และเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมที่สุดเท่าที่ผมเคยได้ยินมาจากภาครัฐบาล ที่เกี่ยวกับวงการอุตสาหกรรมการสื่อสารของประเทศไทย ทุกวันนี้ที่กล่าวว่ารัฐเสียประโยชน์จากการยกเลิกสัมปทาน เพราะขาดส่วนแบ่งรายได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนที่เสียประโยชน์คือประชาชน เพราะอันที่จริงประชาชนเป็นผู้จ่ายทั้งหมด เนื่องจากรายได้ทั้งหมดได้รับจากประชาชน ส่วนแบ่งรายได้ล้วนเป็นต้นทุนที่ส่งผ่านกลับไปให้ประชาชน และยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนจะไม่ได้รับประโยชน์จากการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม” นายศุภชัยกล่าว
“ สำหรับทรูแล้ว หากคิดว่าการยกเลิกสัญญาสัมปทานแล้วเอกชนจะได้ประโยชน์ ทรูก็ยินดีที่จะจ่ายค่าใบอนุญาตและสบทบเข้าในกองทุน USO ให้กับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. แม้จะในอัตราเดียวกันกับที่จ่ายให้เป็นส่วนแบ่งรายได้โดยจ่ายให้กับ กทช. แต่ขอเพียง หากทรูจ่าย ผู้ประกอบการรายอื่นก็ต้องจ่ายในอัตราที่เท่าเทียมกันรวมทั้งรัฐวิสาหกิจก็ต้องจ่ายเสมอเหมือนกันด้วย ซึ่งหากสามารถปฏิบัติได้เช่นนี้แล้ว ทุกคนก็จะแข่งขันอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน”นายศุภชัย กล่าวในที่สุด
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ทรู
คุณพิมลพรรณ / คุณณวนุช / คุณวิภาดา
โทรศัพท์ 02-699-2772/ 02-699-2776/02-6992778
บริษัท พี อาร์ โซลูชั่น จำกัด คุณประภาส / คุณจิตฤทัย / คุณสิทธิกร
โทรศัพท์ 0-2254 2862-3 , 0-1827-7354 , 0-1613-1865

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ